เคล็ดลับการเริ่มใหม่ให้สำเร็จ

การโค้ช

นิสัยรักสุขภาพเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นยากแต่เลิกได้ง่ายๆ เรามีวิธีค้นหาความยืดหยุ่นในความพยายามของคุณแล้วกลับมาไล่ตามเป้าหมายอย่างสนุกสนาน

อัพเดทล่าสุด: 30 มิถุนายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • เมื่อพูดถึงเรื่องการมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แนวคิดที่ว่าถ้าทำได้ไม่ดีก็ไม่ต้องทำเลยดีกว่านั้นอาจส่งผลเสียได้เป็นอย่างมาก
  • แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้ยอมรับความได้อย่างเสียอย่างที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในทุกเส้นทางความก้าวหน้าเพื่อให้ได้ทั้งการพักผ่อนและผลลัพธ์ที่ต้องการ
  • เมื่อคุณพร้อมที่จะค่อยๆ กลับมาออกกำลังกายต่อ ก็เข้าไปลอง Comeback Run พร้อมเสียงแนะนำใน NRC ได้เลย


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

เคล็ดลับสู่การเริ่มต้นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ

พักร้อน หยุดยาว พักผ่อน แค่ได้อ่านคำเหล่านี้ก็น่าจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุขได้แล้ว ซึ่งไม่แปลกเลย ในช่วงเวลาที่ระดับความหมดไฟของทุกคนใกล้จะ 10 เต็ม 10 เราก็มักจะโหยหาเวลานอกเพื่อผ่อนคลายและเติมพลัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีแรงลุยพิชิตเป้าหมายได้อย่างสดชื่นและก้าวหน้าไปต่อได้ในระยะยาว

แต่ปัญหาอยู่ที่แนวคิดแบบ “ถ้าทำได้ไม่ดีก็ไม่ต้องทำเลยดีกว่า” บ่อยครั้งที่การพักผ่อนที่เราคู่ควรกลับกลายเป็นการหยุดชะงักแบบถาวร การพักเพียงไม่กี่วันกลายเป็นการงดเทรนเป็นเดือน การเที่ยวต่างจังหวัดเสาร์อาทิตย์แบบสุดเหวี่ยงกลับทำให้ต้องผิดแผนการกินที่ดีไป การหยุดคลาสหรือหยุดงานแค่ 1 หรือ 2 สัปดาห์ทำให้เราไม่อยากจะกลับมาเปิดงานบนคอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะชอบสิ่งที่ทำอยู่ก็ตาม

ที่คุณรู้สึกว่าการกลับมาเข้าที่เข้าทางเป็นเรื่องยากนั้น อาจเป็นเพราะคุณนิยามคำว่า “พัก” ให้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ทำอะไรเลย Michelle Cleere, PhD อธิบาย เธอคือนักจิตวิทยาด้านประสิทธิภาพที่ร่วมงานกับนักกีฬาชั้นนำ นักดนตรีอาชีพ และผู้บริหาร “เราอยู่ในสังคมที่ผู้คนมักจะคิดว่า ‘ฉันจะใส่เต็มร้อย’ หรือ ‘ฉันจะไม่ลงแรงอะไรเลย’” Cleere กล่าว ทว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆ นั้นคือความยืดหยุ่น

การทุ่มสุดตัวอย่างไม่หยุดหย่อนทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้ การบอกลานิสัยที่ดีไปจนเกลี้ยงในช่วงพักก็เป็นการขัดจังหวะและทำให้เราล้มเหลว Nicole Detling, PhD กล่าว เธอคือโค้ชประสิทธิภาพด้านจิตใจและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬาที่ร่วมงานกับนักกีฬาโอลิมปิกและนักกีฬาทั่วไป “มนุษย์เราเสาะหาความสม่ำเสมอและกิจวัตรค่ะ” Detling อธิบาย พร้อมเสริมว่า แค่ละเลยการกินอาหารที่ดี การออกกำลังกาย การเรียน หรือการทำงานเพียงไม่กี่วัน ก็ทำให้สมองสร้างนิสัยขึ้นมาได้ ซึ่งจะกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ของคุณ Detling ให้เหตุผลว่า “เพราะใจเราคิดว่าการทำเหมือนเดิมซ้ำๆ ง่ายกว่าการเริ่มต้นใหม่หมด”

การหยุดพักที่ดีกว่าเดิม

แทนที่จะปล่อยให้กิจวัตรหยุดชะงักไปเลย คุณควรน้อมรับแนวคิด “หย่อนบ้าง แต่ไม่ปล่อย” Cleere และ Detling กล่าว วิธีนี้จะช่วยให้สมองได้หยุดพักจากกิจวัตรประจำวันที่หนักหนาอย่างต่อเนื่อง Cleere ยังเสริมด้วยว่า เมื่อคุณลดความรีบเร่ง แล้วค่อยๆ ไปอย่างสบายๆ เช่น การออกกำลังกายที่เบากว่าเดิมเมื่อพักร้อน แทนการเลิกเข้าฟิตเนสไปเลย จะช่วยทำให้คุณกลับมาสู่กิจวัตรเดิมได้ง่ายขึ้น เหมือนกับกาน้ำร้อนบนเตา น้ำจะกลับมาเดือดใหม่ได้เร็วกว่าเมื่อลดไฟให้อ่อนลงเฉยๆ เทียบกับเวลาที่ปิดเตาไปเลย

วิธีนี้จะช่วยให้คุณอัพฝีมือเมื่อกลับมาสู่กิจวัตรเดิมได้อีกด้วย “ถ้าคุณใช้โอกาสนี้ในการฝึกทักษะเพื่อพัฒนาตัวตนของคุณในทางใหม่ๆ” Cleere กล่าว สมมติว่าคุณคือนักวิ่งที่อยากพักกายใจจากการย่ำพื้นถนน ลองปัดฝุ่นจักรยานหรือกางเสื่อโยคะดูเพื่อให้ร่างกายได้ขยับและยังคงความคล่องตัวเอาไว้ พร้อมท้าทายกล้ามเนื้อและจิตใจในแบบใหม่ๆ ด้วย ถ้าคุณคือคนรักอาหารที่เตรียมอาหารแบบเดิมๆ ทุกๆ สุดสัปดาห์ ก็ให้ลองทดลองเมนูอาหารใหม่ๆ ดู เช่นจากผักหรือธัญพืชที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งคุณเองไม่เคยกินมาก่อน สิ่งสำคัญก็คือ “ให้ผสมผสานสิ่งที่คุณชอบ สิ่งที่แปลกใหม่แต่สนุก แต่ต้องไม่ใช่ว่าหยุดไปเลย” Detling กล่าว

การใช้ “เวลาพัก” เพื่อลองกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายยังช่วยเสริมผลดีอีกด้วย Detling กล่าว เพราะเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนเชิงบวก เช่น โดพามีน เซโรโทนิน และเอ็นดอร์ฟิน “สารแห่งความสุขเหล่านี้ช่วยต่อต้านความเครียดในร่างกาย” เธอกล่าว “คุณจะได้โฟกัสมากขึ้น และช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ดียิ่งขึ้น”

วิธีเร่งเครื่องให้กลับมาใหม่อีกครั้ง

คุณอาจต้องออกแรงฮึดเพิ่มอีกนิดเพื่อถีบตัวเองให้ไปต่อเมื่อพร้อมกลับมาลุยโปรแกรมตามปกติ ลองวิธีเหล่านี้ในการเติมไฟให้กลับมาอย่างรวดเร็วดูกันเลย

เคล็ดลับสู่การเริ่มต้นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ

1. หาคำตอบว่า “ทำไม”

“นักกีฬาที่ออกกำลังกายแม้ว่าใจจะไม่อยากนั้น ไม่ใช่ว่าออกเพราะมีแรงจูงใจที่ทำให้อยากขยับตัวอยู่เสมอ แต่ออกเพราะพวกเขามุ่งมั่นที่จะไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า” Detling กล่าว ไม่ว่าคุณจะอยากยกเวทได้หนักขึ้น เรียนสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ใช้พลาสติกน้อยลง หรือคุยกับญาติผู้ใหญ่บ่อยขึ้น ให้ถามตัวเองว่าทำไมถึงตั้งเป้าหมายแบบนั้น เพราะอยากรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นไหม อยากมีความสุขกว่านี้ หรืออยากอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้นหรือเปล่า “ถามตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าทำไม จนกว่าจะได้เหตุผลที่มาจากเบื้องลึกของจิตใจ ที่มันใช่จนรู้สึกจุกไปเลย” Detling กล่าว แล้วนึกถึงเหตุผลนั้นเวลาที่ต้องการแรงผลักดันให้ไปต่อ

2. คุมบทสนทนา

เราทุกคนต่างก็มีเสียงในใจที่มักจะบอกอะไรบางอย่างกับเราเสมอ Detling กล่าว และบ่อยครั้งที่เป็นเสียงตัวเรายอมแพ้ เช่นว่า เราอาจจะสนใจการจดบันทึกประจำวัน แต่แล้วเราก็ได้ยินเสียงในใจบอกว่ามันใช้เวลามากเกินไป หรือไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจให้เขียนเลย ให้ตั้งใจเถียงเสียงนั้น Detling กล่าว ให้ทวนคำตอบว่า “ทำไม” และเป้าหมายที่คุณยึดมั่นคืออะไร ซึ่งจะทำให้เสียงนั้นเบาลงและไม่น่าเชื่อถือเท่าเดิม “ก็เหมือนกับการตีเทนนิสในหัวค่ะ” เธอบอก “สมองคนเราจะหวดลูกข้ามตาข่าย แล้วบอกว่า ‘เฮ้อ ไม่เห็นจะอยากทำเลย’ คุณมีหน้าที่หวดลูกนั้นกลับไปในแต่ละครั้ง”

3. นับถอยหลังให้ตัวเอง

ในการเริ่มทำอะไรบางอย่างทันที ไม่ว่าจะเป็นการขยับจริงๆ (อย่างการลุกจากเตียงมาเล่นโยคะ) หรือการตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง (อย่างการลงทะเบียนเรียนวิชาที่เล็งมานาน) ให้คิดในใจว่า “3 2 1 ไป” การใช้เทคนิคนับถอยหลังง่ายๆ ช่วยให้คุณรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ Detling กล่าว และทำให้สมองเชื่อว่าคุณตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้นไปแล้ว ใช้เทคนิคนี้สำหรับก้าวเล็กๆ อย่างเช่น “3 2 1 ใส่สนีกเกอร์” “3 2 1 เปิดประตู” “3 2 1 วิ่งเหยาะในซอย” แทนที่จะเป็น “3 2 1 วิ่ง 10K” แบบนี้จะทำให้รู้สึกว่าสามารถทำตามคำสั่งได้จริง และทำภารกิจสำเร็จหลายๆ อย่างระหว่างทาง ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจได้

4. ทำให้รู้สึกว่ามันง่าย

เวลาที่คุณรู้สึกว่าการกลับมาสู่กิจวัตรแบบเดิมเป็นเรื่องยาก ให้มองหาวิธีที่ช่วยลดความยากดังกล่าวลง เช่น ถ้ารู้สึกว่าการกลับมายกเวทเป็นเรื่องยาก ก็ให้ลองฟังเพลงที่ชอบไปด้วย (แทนการไม่ฟังเพลงเลย หรือฟังเพลย์ลิสต์เพลงที่แอพสร้างแต่คุณรู้สึกเฉยๆ) ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่พบว่าการดึงความสนใจไปอย่างอื่นจะช่วยให้สมองคิดว่าการออกกำลังกายไม่ได้ยากขนาดนั้น (งานวิจัยยังพบด้วยว่าการฟังเพลงที่ชอบในความเร็วประมาณ 165 BPM ช่วยเพิ่มพลังและความทนทานระหว่างออกกำลังกายได้) เหมือนเป็นการหยอดน้ำมันล้อ Detling กล่าว และตัวช่วยนี้จะทำให้คุณมีแรงกลับมาลุยเป้าหมายเดิมได้อีกครั้ง

ถ้าคุณยังคิดแบบต้องทำให้ได้เป๊ะๆ ชนิดที่ว่า “ไม่สุดก็หยุดไปเลย” กับเรื่องการเทรนนิ่ง อาหาร งานอดิเรก หรือการเข้าสังคมอยู่ ก็ให้นึกถึงตัวเองในอนาคตเข้าไว้ ถ้า “พัก” เสร็จแล้ว ตัวคุณในอนาคตจะขอบคุณหรือจะด่าตัวคุณตอนนี้ ลงมือทำสิ่งที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขในวันข้างหน้า แล้วคุณจะพบกับการเริ่มใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้เองและความก้าวหน้าในระยะยาว

เรียบเรียงโดย Marissa Stephenson
ภาพประกอบโดย Jon Krause

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หยุดพักเพื่อให้ได้หายใจหายคอกันก่อนจากการลุยอันหนักหน่วงในแต่ละวันด้วยการบริหารฝึกลมหายใจพร้อมเสียงแนะนำในแอพ Nike Training Club และเมื่อพร้อมที่จะกลับไปลุยต่อ ก็เข้าไปลอง Comeback Run พร้อมเสียงแนะนำในแอพ Nike Run Club app ได้เลย

เผยแพร่ครั้งแรก: 7 มีนาคม 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีง่ายๆ เพื่อหยุดการกินเพราะความเครียด

การโค้ช

การกินตามอารมณ์คืออะไร แล้วจะหยุดได้อย่างไร

วิธีเลิกนิสัยที่ไม่ดีแบบถาวร

การโค้ช

วิธีเลิกนิสัยแย่ๆ ให้ได้ผลชะงัด

สิ่งที่ควรกินเพื่อช่วยให้ฟื้นกำลังหลังการออกกำลังกายได้ดียิ่งขึ้น

การโค้ช

วิธีการฟื้นตัวด้วยอาหาร

การฟื้นกำลังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร

การโค้ช

การฟื้นกำลังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร

การออกกำลังกายตามเกณฑ์มาตรฐานคืออะไร และคุณจะสามารถนำมันมาใช้ได้อย่างไร

การโค้ช

บรรลุเป้าหมายเทรนนิ่งด้วยการทดสอบเดียว