อย่าให้ความเหนื่อยล้าทางใจมาห้ามคุณออกกำลังกาย

การโค้ช

เบิร์นเอาต์แล้วใช่ไหม นี่คือวิธีการรักษาแรงจูงใจไว้และให้กล้ามเนื้อทำงานต่อไปแม้ใจจะสั่งให้ร่างกายพอแล้ว

อัพเดทล่าสุด: 30 มิถุนายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • ความเหนื่อยล้าทางจิตใจอาจทำให้รู้สึกว่าคุณต้องใช้พลังงานในการลงแรงมากกว่าที่เคย ซึ่งอาจนำไปสู่ผลเสียต่อประสิทธิภาพ (และความก้าวหน้า) ของคุณ
  • การวางแผนออกกำลังกายล่วงหน้า การคุยกับตัวเอง และการงีบเอาแรงอาจช่วยต่อสู้กับผลที่เกิดจากอาการสมองล้าได้
  • หากต้องการออกกำลังกายแบบลุยได้เลยไม่ต้องคิดเยอะ ก็สามารถทำตามคลาสต่างๆ ที่มีเทรนเนอร์นำได้ใน NTC หรือลุยไปกับการวิ่งพร้อมเสียงแนะนำได้ใน NRC


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

เพิ่มพลังงานทางจิตใจเพื่อแสดงประสิทธิภาพอย่างแข็งแกร่ง

หากเมื่อเช้า การวิ่งเพซ 6 ที่ปกติคุณวิ่งได้สบายๆ นั้นทำให้หมดแรงสุดๆ ราวกับวิ่งเพซ 4 ปัญหาอาจไม่ใช่เรื่องกล้ามเนื้อ แต่เป็นเรื่องของจิตใจ

ในงานศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ที่ตีพิมพ์ลง Medicine & Science in Sport & Exercise ได้มีการทดสอบให้นักวิ่งที่ฝึกความทนทานมืออาชีพทำภารกิจในคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 45 นาที ซึ่งมีภารกิจที่ให้ต้องรีบกดปุ่มด้วยเมื่อมีคำสั่งปรากฏ พอทำเสร็จแล้วก็ให้ไปวิ่งให้ไกลที่สุดเท่าที่วิ่งไหว พบว่าเหล่านักวิ่งนั้นวิ่งได้ไม่ไกลเท่ากับตอนที่วิ่งหลังจากชมสารคดี โดยตอนที่ทำการทดสอบทั้ง 2 ประเภทนั้น เหล่านักวิ่งมีอัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจนที่สูดเข้าไป และระดับแลคเตทเท่าๆ กัน แปลว่ากิจกรรมที่ทำก่อนวิ่งไม่มีผลกับร่างกาย แต่มีผลกับสมอง

“อาการล้าทางจิตใจจะส่งผลให้รู้สึกว่าเราใช้แรงมากขึ้น” หรือเรียกอีกอย่างว่าค่าความรู้สึกเหนื่อย (RPE) หรือระดับของแรงที่นักวิ่งคิดว่าตัวเองใช้ไประหว่างวิ่ง Bruno Moreira Silva, PhD กล่าว เขาคือผู้นำวิจัยและเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยาที่ University of São Paulo ในบราซิล ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงวิ่งได้ไม่ไกล

วิทยาศาสตร์เบื้องหลังความเหนื่อยล้าทางใจ

คุณอาจรู้สึกว่าร่างกายล้า หลังวิ่งไป 16 กิโลเมตรหรือหลังออกกำลังกาย HIIT แบบสั้นๆ และเช่นเดียวกัน คุณก็อาจรู้สึกว่าจิตใจตัวเองล้าได้ หลังจากที่ทำงานมายาวนานทั้งวันหรือหลังจากทำงานหนักๆ เพียงไม่กี่นาที จากข้อมูลของ Kristy Martin ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ University of Canberra Research Institute for Sport and Exercise ในออสเตรเลีย อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจหรือทำให้ “สมองล้า” โดยปกติแล้วจะเป็น “สิ่งที่คุณไม่ได้อยากทำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะท้าทายมากๆ หรือน่าเบื่อจริงๆ” Martin กล่าว

แม้จะมีงานศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าอาการสมองล้าอาจส่งผลเสียได้ต่อความสามารถในการคงระดับพลังงานที่ใช้ปั่นจักรยานออกกำลังกาย การค้างท่าบริหารแบบไอโซเมตริก (เช่น ท่ากระดาน) หรือการรักษาระดับความเร็วในการว่ายน้ำระยะ 1,500 เมตร แต่ทว่ามีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะส่งผลต่อการวิ่งเร็วๆ 20 วินาที นั่นเป็นเพราะว่าความทนทาน (Endurance) หรือที่ Martin เรียกว่า “กิจกรรมใดก็ตามที่ต้องรักษาระดับพลังที่ใช้เอาไว้โดยไม่ทำให้ตัวเองเหนื่อยจนไม่ไหว” นั้น อาจต้องใช้ความใจสู้ในการตัดสินใจว่าจะทำต่อไป “และเนื่องจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจจะส่งผลให้รู้สึกว่าใช้แรงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ เราจึงตัดสินใจได้ยากขึ้น” Martin กล่าว ในทางกลับกัน ระหว่างที่วิ่งสปรินท์ เราจะมีเวลาให้คิดหรือให้สูญเสียแรงจูงใจน้อยลง

เราสังเกตอาการสมองล้าได้โดยง่าย นั่นคือเมื่อเรารู้สึกหมดแรง ไม่มีกะจิตกะใจที่จะผลักดันตัวเอง อารมณ์แปรปรวน ตอบสนองช้า สมาธิสั้นลง หรือแม้แต่ระดับความแม่นยำที่ลดลง หนึ่งในทฤษฎีเกี่ยวกับอาการสมองล้าที่ Martin และเพื่อนร่วมงานของเธอได้ตั้งเอาไว้ในการทบทวนงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวข้องกับการสะสมของสารประกอบที่เรียกว่าอะดีโนซีน ซึ่งอยู่ในสมองส่วนที่ควบคุมการรับรู้ความรู้สึกเหนื่อย ความมุมานะต่อสิ่งที่ทำ และกระบวนการเทียบแรงที่ลงกับผลตอบแทนที่ได้ (ร่างกายจะสร้างสารอะดีโนซีนเมื่อเราออกแรงอย่างหนักหน่วงหรือเมื่อใช้สมองคิดอย่างคร่ำเคร่ง) และนักวิจัยสันนิษฐานว่า ยิ่งเราสะสมสารอะดีโนซีนไว้ในสมองมากเท่าไหร่ สัญญาณที่สมองต้องใช้ส่งก็จะยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เรายังคงปั่นจักรยาน ทำท่ากระดาน หรือว่ายน้ำได้ต่อไป นี่จึงทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีความท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้สารอะดีโนซีนยังไปปิดกั้นการปล่อยโดพามีนอีกด้วย ซึ่งเป็นสารเคมีที่ควบคุมเรื่องแรงจูงใจ จิตใจกับสมองเราจึงเหมือนกับว่าโดนเล่นงาน 2 เด้ง

แต่อย่าเพิ่งเศร้าใจไป เพราะถ้าเราทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้นได้ ร่างกายของเราก็จะทุ่มเทได้เต็มที่ มาดูวิธีกันเลย

เพิ่มพลังงานทางจิตใจเพื่อแสดงประสิทธิภาพอย่างแข็งแกร่ง

1. สกัดอาการสมองล้าเอาไว้แต่เนิ่นๆ

หากคุณอยากจะทุ่มให้สุดในการออกกำลังกาย สิ่งสำคัญยิ่งก็คือต้องหลีกเลี่ยงความเหนื่อยล้าทางจิตใจตั้งแต่ต้น Samuele Marcora, PhD อาจารย์ประจำภาควิชาชีวการแพทย์และระบบประสาทสั่งการประจำ University of Bologna ในอิตาลี กล่าว โดยสำหรับการหลีกเลี่ยงนั้น ให้เตรียมตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนออกกำลังกาย (เลือกเซอร์กิต เครื่องแต่งกาย และเพลย์ลิสต์ในวันก่อนหน้า) และให้เตรียมแผนสำรองไว้เผื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่น มัวแต่กดปุ่มเลื่อนปลุก หรือต้องเลิกงานดึก แนะนำว่าให้นอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงแล้วค่อยตื่นมาทำทั้งหมดนี้ จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระทั้งการออกกำลังกายและการเตรียมความพร้อม

2. ฟื้นกำลังก่อนเริ่มเซสชัน

บางครั้งความเหนื่อยล้าทางจิตใจก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างในวันที่ต้องประชุมติดๆ กันทั้งวัน ความเหนื่อยล้าที่ว่านี้จะหายไปเมื่อไหร่นั้นยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับมากพอ แต่การฟื้นกำลังที่เหมาะสม “ต้องใช้เวลาและต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้น” Silva บอก ส่วน Martin ก็แนะนำว่า การงีบเอาแรงแบบ Power Nap สัก 20-30 นาทีจะช่วยให้สมองได้พักและกลับมาทำงานใหม่ได้ รวมไปถึงให้หาขนมย่อยง่ายมารองท้องก่อนออกกำลังกาย เพราะสมองคนเรามีแนวโน้มที่จะสะสมอะดีโนซีนเมื่อเรามีพลังงานต่ำ

3. จิบกาแฟสักแก้ว

คาเฟอีนมีโครงสร้างคล้ายกับอะดีโนซีน ดังนั้นเมื่อคาเฟอีนเข้าไปจับกับตัวรับอะดีโนซีน คาเฟอีนก็จะช่วยป้องกันผลที่จะเกิดจากอะดีโนซีนได้ และยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยของ Marcora พบว่า คาเฟอีนจะไปลดกิจกรรมในสมองส่วนสั่งการการเคลื่อนไหวและส่วนสั่งการความคิดในระหว่างการออกกำลังกาย จึงเป็นการไปลด RPE ในช่วงนั้นด้วย ถ้าได้ดื่มสักแก้วราวครึ่งชั่วโมงก่อนเซสชัน คุณก็อาจลุยได้นานขึ้นและหนักหน่วงขึ้น

4. หลอกใจตัวเอง

งานวิจัยระบุว่าเราสามารถลดการรับรู้ความรู้สึกเหนื่อยลงได้ด้วยการฟังเพลง (ยิ่งอยากจะใช้แรงมากเท่าไหร่ ก็ให้ฟังเพลงที่เร็วขึ้นเท่านั้น) การพูดกับตัวเอง (คิดเหมือนกับว่าเราเป็นอีกคนหนึ่ง เช่น พูดว่า “คุณทำต่อได้” แทนที่จะเป็น “ฉันทำต่อได้”) หรือแม้แต่แค่การยิ้ม (ซึ่งช่วยทำให้คุณใช้พลังงานในเซสชันได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น)

5. เชื่อว่ามันก็แค่ความรู้สึกอย่างหนึ่ง

เสียงในหัวที่บอกว่าเราไปต่ออีกสักนาทีก็ไม่ไหวหรอกนั้นก็เป็นเพียงเสียงในหัวของเรา ไม่ใช่เสียงจากกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่ร้องขอให้เราหยุดเพราะเจ็บและทำต่อไม่ไหว “หลายคนบอกผมว่าพวกเขาสามารถทำลายสถิติของตัวเองได้เมื่อตระหนักว่าขีดจำกัดคือสิ่งที่รับรู้และสัมผัสได้” Marcora กล่าว การเปลี่ยนมุมมองเล็กน้อยเช่นนี้ก็อาจเพียงพอแล้วที่จะช่วยให้คุณทำได้เช่นกัน

เรียบเรียงโดย Jamie Millar
ภาพประกอบโดย Davide Bonazzi

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ให้สมองคุณได้พักบ้าง พบกับคลาสต่างๆ ที่คุณรักในแบบที่นำโดยเทรนเนอร์กับแอพ Nike Training Club เพื่อให้คุณยังคงมีแรงจูงใจต่อไปในแบบที่ไม่ต้องเหนื่อยกับการตัดสินใจเลือกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในยิม หรือหากต้องการอุปกรณ์เพิ่มเพื่อเป็นตัวช่วยในกิจวัตรด้านฟิตเนสของคุณล่ะก็ เชิญมาเลือกซื้อได้เลย ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

เผยแพร่ครั้งแรก: 18 เมษายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีค้นหาแรงจูงใจในการออกกำลังกายหลังคลอด

นี่ล่ะ Nike (M)

ข้ามผ่านกำแพงในจิตใจที่พบได้บ่อยในการเทรนนิ่งหลังคลอด

วิธีการโฟกัสไปที่สุขภาพจิตของคุณหลังจากคลอดบุตร

นี่ล่ะ Nike (M)

ปรับมายด์เซ็ตหลังคลอดด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ความเครียดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไรและควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่ล่ะ Nike (M)

เจาะลึกเรื่องความเครียดและภาวะเจริญพันธุ์

การออกกำลังกายสามารถเตรียมความพร้อมในการคลอดให้คุณได้อย่างไร ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

เคล็ดลับเสริมทัศนคติเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมก่อนคลอดได้อย่างมั่นใจ

คุณสามารถออกกำลังกายแบบหนักหน่วงในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นี่ล่ะ Nike (M)

ระหว่างตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหนักแค่ไหนกัน