สัมผัสกับพลังแห่งปรากฏการณ์ยาหลอก

การโค้ช

เมื่อสมองคนเราคิดว่าเทคนิคการฟื้นกำลังที่ใช้อยู่นั้นช่วยให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ร่างกายก็จะคิดว่าสิ่งที่ทำได้ผลเช่นกัน ไม่ว่าเทคนิคนั้นจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มารองรับหรือไม่ก็ตาม

อัพเดทล่าสุด: 25 กรกฎาคม 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • ปรากฏการณ์ยาหลอกคือการเชื่ออย่างแรงกล้าว่าคุณสัมผัสได้ถึงผลลัพธ์นั้นจริงๆ โดยไม่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
  • วิธีต่างๆ เช่น การแช่อ่างน้ำแข็ง ไม่ค่อยมีงานศึกษาวิจัยมารองรับมากนัก แต่สมองยังคงหลั่งเอ็นดอร์ฟินออกมาในขณะที่คุณนั่งแช่อยู่ในอ่าง ซึ่งช่วยให้คุณก้าวหน้าได้
  • ดูมุมมองของคนอื่นๆ เกี่ยวกับข้อดีของเทคนิคเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ให้มากขึ้น


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

ทำไมปรากฏการณ์ยาหลอกถึงใช้ได้ผล

ถ้าแฟนคุณชงกาแฟกาหนึ่ง แล้วกว่าคุณจะรู้ว่าเป็นกาแฟไร้คาเฟอีน ก็ดื่มไปแล้วครึ่งถ้วย แต่ว่าก็ยังรู้สึกสดชื่นและมีกำลังขึ้นอยู่ดี คุณจะหยุดดื่มกาแฟถ้วยนั้นไหม คำตอบของคุณอาจไม่สำคัญเท่าปรากฏการณ์ที่สร้างความกระปรี้กระเปร่าได้แบบปราศจากคาเฟอีนนี้ หรือที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ยาหลอก

"ปรากฏการณ์ยาหลอกเกิดขึ้นเมื่อคนเราได้ผลลัพธ์ในเชิงบวกซึ่งมีที่มาจากการเชื่อในปัจจัยภายนอก แทนที่จะเป็นลักษณะเฉพาะของปัจจัยภายนอกดังกล่าว" Shona Halson, PhD รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Australian Catholic ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นกำลังกล่าว นอกจากนี้การเชื่อแบบไร้ข้อกังขาว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังพยายามทำอยู่นั้นจะให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกก็มีส่วนเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตาม

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม นักกีฬาหลายคนก็อาจเคยได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ยาหลอกเพื่อทำให้การฝึกซ้อมก้าวหน้าเมื่อตอนที่ลองใช้เทคนิคการฟื้นกำลังแนวใหม่ที่เป็นที่ฮือฮา แม้จะได้รับความนิยม แต่วิธีการเหล่านี้หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการใช้ปืนนวดมาช่วยนวด (รูปทรงคล้ายสว่านไฟฟ้า แต่ตรงดอกสว่านเป็นลูกโฟมทรงกลม) และการบำบัดด้วยความเย็นจัด (การแช่ในตู้เยือกแข็ง) อาจเชื่อมโยงได้กับทั้งคุณประโยชน์ทางร่างกายและประสบการณ์ทางจิตใจ ซึ่งบางครั้งอาจเชื่อมโยงกับอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก

ลองนึกถึงถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อดูก็ได้ เพราะเป็นที่พูดถึงกันมากว่าช่วยลดอาการปวดบวมหลังออกกำลังกายได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีงานทบทวนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบลงใน Open Access Journal of Sports Medicine ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใส่ถุงเท้าประเภทนี้รับรู้ว่าตัวเองมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่ไม่พบคุณประโยชน์ในตัวบ่งชี้ด้านความเสียหายหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อเลย งานศึกษาวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ลงใน International Journal of Sports Physiology and Performance พบว่า ถุงเท้าดังกล่าวอาจช่วยให้ฟื้นกำลังได้ดีขึ้นเมื่อนักกีฬาเชื่อว่าถุงเท้านั้นช่วยได้

นอกจากนี้ยังมีเครื่องอัดอากาศกระชับกล้ามเนื้อด้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายปลอกแขนปลอกขาแบบนุ่มๆ นักวิจัยได้ระบุไว้ใน International Journal of Exercise Science ว่า ปรากฏการณ์ยาหลอกอาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดเมื่อใช้เครื่องดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างจึงรายงานว่าฟื้นกำลังได้เร็วขึ้นและรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงจากอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นหลังออกกำลังกาย เมื่อเทียบกับการใส่ปลอกแขนกระชับกล้ามเนื้อแบบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง (อาจเพราะเครื่องอัดอากาศมีรูปลักษณ์ที่ดูล้ำสมัย จึงทำให้ดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า ก็ไม่แน่เหมือนกัน)

การฟื้นกำลังด้วยวิธีอื่น อย่างการนวดหรือแช่อ่างน้ำแข็ง ก็ให้ผลการศึกษาวิจัยในลักษณะเดียวกัน งานศึกษาวิจัยบางชิ้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเชื่อว่าการบำบัดที่ทำนั้นช่วยได้ ซึ่งนี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่าสมองมีบทบาทที่โดดเด่นในความก้าวหน้าของเรา

ทำไมปรากฏการณ์ยาหลอกถึงใช้ได้ผล

จิตวิทยาเบื้องหลังปรากฏการณ์ยาหลอก

งั้นก็หมายความว่าคนเหล่านี้ควรรู้สึกกังขากับประสบการณ์ของตนเองใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่เลย Halson กล่าว ความรู้สึกเหล่านั้นอาจอยู่แค่ในความคิด แต่ผลลัพธ์ของมันเกิดขึ้นจริง

"ปรากฏการณ์ยาหลอกมักเกี่ยวข้องกับความคาดหวังซึ่งสมองส่วนหน้าเป็นตัวคอยจัดการ" Lauren Atlas, PhD นักสืบทางประสาทวิทยาด้านอารมณ์และความเจ็บปวดประจำ National Center for Complementary and Integrative Health ที่ National Institutes of Health อธิบาย "สมองส่วนนั้นเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยสารเคมีออกมาและไปมีผลต่อการตอบสนองของร่างกาย เช่น เอ็นดอร์ฟิน [ฮอร์โมนความรู้สึกดี]" เธอบอกว่า ยาหลอกมีหลายประเภท บางประเภทอาจมุ่งไปที่ระบบโอปิออยด์ในร่างกายเพื่อเข้าไปสกัดกั้นสัญญาณความเจ็บปวดไม่ให้ส่งไปยังสมองได้จริงๆ ขณะที่บางประเภทก็อาจไปเปลี่ยนแปลงอารมณ์และทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

แต่ก็มีอีกเหตุผลที่ปรากฏการณ์ยาหลอกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับการฟื้นกำลัง "ในเกมกีฬา ชัยชนะอาจตัดสินกันเพียงเสี้ยววินาที" Halson กล่าว "และนักกีฬาที่จริงจังจะพยายามแทบทุกวิถีทางเพื่อให้มีความได้เปรียบนั้น" โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการใส่ถุงเท้า

ปรากฏการณ์ยาหลอกอาจมีศักยภาพมากขึ้นไปอีก ถ้าเกิดเจ้าตัวรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นเหมือนที่พึ่งทางใจ Halson เสริม "เทคนิคการฟื้นกำลังส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความรู้สึกมาก" เธอบอก ดังนั้นหากคุณรู้สึกว่ากำลังทำอะไรดีๆ ให้ร่างกายทุกครั้งที่แช่อ่างน้ำแข็งจนตัวสั่นหรือนวดเจลเย็นคลายกล้ามเนื้อ ความเชื่อนี้รวมถึงความมั่นใจที่เกิดขึ้นก็จะเติมพลังให้คุณสู้ต่อในครั้งหน้าได้ และยิ่งเมื่อคุณต้องการให้บางอย่างได้ผลมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งเชื่อในสิ่งนั้นมากขึ้นเท่านั้น Halson กล่าว

วิธีนำปรากฏการณ์มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบ

หากกำลังมองหาแนวทางใหม่ในการฟื้นกำลังอยู่ละก็ Atlas บอกว่า อย่าไปลองทำในแบบที่ตัวเองก็ไม่มั่นใจ เพราะอาจเสี่ยงต่อการมีประสบการณ์ที่ไม่ดีได้ หรือที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า "ปรากฏการณ์ยาหลอกในด้านลบ" (Nocebo Effect) ทางที่ดีที่สุดคือลองด้วยการเปิดใจให้กว้าง และต้องแน่ใจว่าตัวเองใช้เครื่องมือหรือวิธีการอย่างถูกจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปืนนวดมาช่วยนวดบำบัดหรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เพราะสิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการฟื้นกำลัง ไม่ได้มีไว้รักษาปัญหาทางร่างกายที่ใหญ่กว่า "หากคุณกำลังเผชิญกับปัญหาหรืออาการบาดเจ็บที่แอบแฝงอยู่ คุณต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ" Halson กล่าว

ถ้าไปเจออะไรในโซเชียลมีเดียหรืออ่านอะไรผ่านทางออนไลน์แล้วสนใจ Halson แนะนำว่า ให้ลองพูดคุยกับคนอื่นๆ ดู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคุณที่ชอบออกกำลังกายสุดๆ หรือนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคการฟื้นกำลังที่หลากหลาย เพื่อหาคำตอบดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากมีใครสักคนตื่นเต้นกับประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคนิคนั้น ก็จะทำให้คุณมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นที่จะเชื่อว่าเทคนิคนั้นได้ผลเช่นกัน

ไม่อยากจะพูดให้วกไปวนมาหรอกนะ แต่หากคุณเชื่อว่าปรากฏการณ์ยาหลอกนั้นเป็นจริงและมีประสิทธิภาพ คุณก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้สัมผัสกับปรากฏการณ์นี้และผลลัพธ์ในเชิงความก้าวหน้าที่ตามมา นี่แหละคือปรากฏการณ์ยาหลอกที่มีผลต่อการเชื่อในปรากฏการณ์ยาหลอก เจ๋งไหมล่ะ

เรียบเรียงโดย Ashley Mateo
ภาพประกอบโดย Gracia Lam

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พร้อมเริ่มกิจวัตรการฟื้นกำลังของคุณเองแล้วใช่ไหม ลองดูโปรแกรมตกหลุมรักวินยาสะในแอพ Nike Training Club จากนั้นสำรวจไลบรารีบทความที่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์และผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญของ Nike เพื่อดูคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟื้นกำลัง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พร้อมเริ่มกิจวัตรการฟื้นกำลังของคุณเองแล้วใช่ไหม ลองดูโปรแกรมตกหลุมรักวินยาสะในแอพ Nike Training Club จากนั้นดูวิธีรวบรวมพลังแห่งจิตใจไปกับ Alia Crum, PhD นักจิตวิทยาในพอดแคสต์ Trained ของ Nike

เผยแพร่ครั้งแรก: 8 สิงหาคม 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

คุณสามารถออกกำลังกายแบบหนักหน่วงในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นี่ล่ะ Nike (M)

ระหว่างตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหนักแค่ไหนกัน

วิธีค้นหาแรงจูงใจในการออกกำลังกายหลังคลอด

นี่ล่ะ Nike (M)

ข้ามผ่านกำแพงในจิตใจที่พบได้บ่อยในการเทรนนิ่งหลังคลอด

วิธีออกกำลังกายหลังจากการแท้งบุตร โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

คู่มือฉบับนุ่มนวลเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายหลังแท้ง

เหตุผลที่คุณควรลองเล่นโยคะระหว่างตั้งครรภ์ โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

โยคะระหว่างตั้งครรภ์ใช่การออกกำลังกายที่คุณเฝ้ารอหรือเปล่า

วิธีการโฟกัสไปที่สุขภาพจิตของคุณหลังจากคลอดบุตร

นี่ล่ะ Nike (M)

ปรับมายด์เซ็ตหลังคลอดด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ