BMI เรื่องที่ควรเลิกใส่ใจเมื่อพูดถึงการตั้งครรภ์

นี่ล่ะ Nike (M)

เครียดกับการตั้งท้องแล้ว ยังต้องมาพะวงเรื่องน้ำหนักอีก จะเกินไปไหม! แต่เอาจริงๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องพะวงกับมันก็ได้ มาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องไหนที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า

อัพเดทล่าสุด: 21 พฤศจิกายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
  • BMI หรือดัชนีมวลกายที่คุณเคยได้ยินอาจไม่ได้มีความถูกต้องซะทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของภาวะเจริญพันธุ์ ซ้ำร้ายการยึดติดกับตัวเลขไร้หลักการพวกนี้ยังอาจให้โทษมากกว่าให้คุณอีกด้วย
  • การจำกัดแคลอรี่ที่บริโภคไม่ได้มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์
  • การเคลื่อนไหวช่วงเตรียมตั้งครรภ์มีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจตราบใดที่ไม่ได้หักโหม หากต้องการหาวิธีเคลื่อนไหวใหม่ๆ ขอแนะนำโปรแกรม Nike (M) เคลื่อนไหวสไตล์คุณแม่ในแอพ NTC


อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

เหตุใดคุณจึงไม่ควรโฟกัสที่ BMI ขณะเตรียมตั้งครรภ์

*เนื้อหานี้ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่เพื่อการวินิจฉัย รักษา หรือให้คำแนะนำเฉพาะทางการแพทย์ จึงควรปรึกษากับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณอยู่เสมอเกี่ยวกับวิธีรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปลอดภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์

บางทีภาวะเจริญพันธุ์ก็มีเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ เพราะความสามารถในการตั้งครรภ์และบำรุงครรภ์ของคนคนหนึ่งมีปัจจัยตั้งมากมายหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรม ประวัติทางการแพทย์ รูปร่างของมดลูก ยังไม่รวมภาวะเจริญพันธุ์ของคนที่เป็นเจ้าของสเปิร์มอีก แถมยังมีอีกปัจจัยที่มีความซับซ้อนมากกว่าเพื่อนและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นั่นก็คือ ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI)

ใครอ่านถึงตรงนี้แล้วเริ่มเบื่อ เราคือเพื่อนกัน เพราะเจ้าดัชนีตัวนี้ไม่เคยมีไว้ใช้ในทางการแพทย์เลย มันเป็นแค่สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ (น้ำหนัก ÷ ความสูง² × 703) ซึ่งคิดค้นในศตวรรษที่ 19 โดยนักสถิติชื่อ Adolphe Quetelet เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับกะประมาณขนาดตัวของร่างกายโดยเฉลี่ยของประชากร (ที่เป็นเพศชาย ผิวขาว โซนยุโรปตะวันตก) และถูกนำมาใช้เป็นสูตรสำเร็จในการวัดประเมินน้ำหนักร่างกายช่วงราวๆ ทศวรรษที่ 1970 - 1990 เพราะใช้วัดค่าได้ดีกว่าวิธีอื่นที่มีอยู่ได้เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งแม้กระทั่งตอนนี้ กลุ่มนักวิจัยและศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาก็ยังกล่าวว่า "ค่านี้ไม่ได้ช่วยวินิจฉัยสุขภาพหรือค่าไขมันในร่างกายของใครเลย"

ถ้าอย่างนั้นเจ้าสูตรคำนวณที่ดูไม่มีหลักการแบบนี้เกี่ยวอะไรกับมดลูกของเราล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีศูนย์เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์หลายแห่งปฏิเสธการดูแลคนไข้ที่มีค่า BMI เลยจุดที่กำหนด หรืออย่างน้อยก็จนกว่าคนไข้จะกลับไปลดน้ำหนักให้ "มากพอ" ซึ่งนี่เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการถกเถียงและยังสร้างความหงุดหงิดใจให้ทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายคนไข้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อเท็จจริงว่าค่า BMI ที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ "ปกติ" (ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่) จะสัมพันธ์กับการถดถอยของภาวะเจริญพันธุ์ด้วยสาเหตุหลายอย่าง แต่ "คนเราก็ยังสามารถตั้งครรภ์ด้วยน้ำหนักตัวที่แตกต่างกันมากๆ ได้" (ภาวะมีบุตรยากก็สามารถเกิดในคนน้ำหนัก "ปกติ" ได้เช่นกัน) Lora Shahine, MD แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์และสูตินรีเวชวิทยาที่ Pacific NW Fertility เมืองซีแอตเทิล และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ Baby or Bust กล่าว "การจับคนใส่กล่องแล้วบอกว่า 'BMI ของคุณสูงหรือต่ำไปนะ แบบนี้ตั้งครรภ์ไม่ได้หรอก' คือการพูดที่ไม่ได้มองภาพรวมทั้งหมด"

BMI อาจเป็นส่วนหนึ่งของภาพทั้งหมดก็จริง แต่การมองแค่เรื่องน้ำหนักอาจตามมาด้วยผลร้ายมากกว่าผลดีก็เป็นได้ เพราะการศึกษาชี้ว่าการตั้งใจลดน้ำหนักมักจะเกิดผลเพียงชั่วคราวและยังอาจส่งผลตรงข้ามกับที่คาดได้ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะนำไปสู่การโยโย่ พร้อมกับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการทำให้สุขภาพโดยรวมของตัวเองแย่ลง และสุขภาพโดยรวมนี้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ต่ออนามัยการเจริญพันธุ์ Dr Shahine กล่าว

ดังนั้นตามคำบอกของ Dr Shahine เรามาเลิกเครียดกับ "ตัวเลขไร้หลักการพวกนี้" แล้วมาดูวิธีอื่นที่ทำระหว่างเตรียมตั้งครรภ์แล้วไม่มีใครเห็นแย้งกันดีกว่า ดังนี้

เหตุใดคุณจึงไม่ควรโฟกัสที่ BMI ขณะเตรียมตั้งครรภ์

1. กินในปริมาณที่อาจมากกว่าที่คุณคิด

การควบคุมอาหารเป็นเรื่องทั่วไปที่สังคมยอมรับและก็มีหลายคนที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว เช่น "ทำคีโต" หรือ "กินคลีน" ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อภาวะเจริญพันธุ์เลย Willow Jarosh, RDN นักกำหนดอาหารจากนครนิวยอร์ก กล่าว เธออยากให้คนที่กำลังเตรียมตั้งครรภ์อยู่ห่างๆ ความคิดเรื่องการไดเอทไว้เพื่อจะได้รับแคลอรี่และสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือกินอะไรก็ได้ที่เป็นอาหารปกติและทำให้อิ่มท้อง

Jarosh ยังมีอีกเรื่องที่กังวลเมื่อพูดถึงภาวะเจริญพันธุ์ นั่นคือการกินเพื่อรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด เรื่องนี้จะค่อนข้างสำคัญสำหรับคนเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) และมีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อฯ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง แต่ถึงแม้โรค PCOS จะเป็นโรคที่ส่งผลอย่างซับซ้อนต่อภาวะเจริญพันธุ์และไม่มีวิธีรักษาในเวลาอันสั้น อย่างน้อยการกินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างง่าย "ลองจัดอาหารแต่ละมื้อให้มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันอยู่ครบ" Jarosh กล่าว ขนมขบเคี้ยวก็เป็นของที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และยังใช้เป็นตัวเสริมโภชนาการและอาหารในหมู่ต่างๆ ที่คุณไม่ค่อยได้รับจากมื้ออาหารปกติได้ด้วย

สำหรับคำถามว่าต้องเลือกอาหารแบบไหนเจาะจงเป็นพิเศษไหม Jarosh บอกว่าเรื่องนี้ไม่ต้องคิดมาก Dr Shahine เสริมเช่นกันว่า อาจมีคนไข้บางคนที่ค่อนข้างประสบปัญหากับการตั้งครรภ์จนทำให้ตัวเองซีเรียสกับเรื่องโภชนาการและมักมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพตามกระแสที่กำลังได้รับความนิยม "ใครๆ ก็อยากให้คนพูดกับตัวเองว่า 'งดกลูเตนสิ เดือนหน้าท้องแน่นอน' แต่มันไม่มีสูตรสำเร็จแบบนั้น" (ใครมีโรคประจำตัวหรืออาการแพ้แล้วจำเป็นต้องปรับการกินให้เหมาะสมกับร่างกาย แน่นอนว่าทางที่ดีที่สุดคือควรนำไปปรึกษานักกำหนดอาหารอาชีพแบบตัวต่อตัว)

2. อย่ากังวลกับความเครียด แต่ให้รู้จักอยู่กับมัน

ใช่ ความเครียดทำให้รอบเดือนผิดปกติและส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ แต่ถ้ามันทำให้ทุกคนตั้งครรภ์ไม่ได้จริง โลกนี้คงไม่มีเด็กเกิดใหม่ที่ไหนแล้ว "ฉันคุยกับคนไข้บ่อยมากว่าเราไม่มีทางทำให้ความเครียดหมดไปได้ แต่เรามีกลไกบางอย่างที่สามารถจัดการเพื่อลดผลกระทบจากความเครียดได้" Dr Shahine กล่าว ตัวความเครียดเองนั้นไม่ได้แย่ แต่คือการตอบสนองว่าจะสู้หรือหนีซึ่งสามารถช่วยชีวิตเราได้ แต่เมื่อร่างกายต้องสู้เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ก็จะไม่สนใจฮอร์โมนที่ทำให้เด็กเกิดมา Dr Shahine กล่าว สมมติคุณโดนหมีตัวหนึ่งวิ่งไล่ "คุณจะไข่ตกตอนนั้นหรือเปล่า หรือคุณจะพยายามวิ่งหนีหมี" Dr Shahine ถาม

คือถ้าตอนนั้นมีหมี ยังไงคุณก็ทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้ แต่ระหว่างที่คุณคิดว่าหมีตัวนั้นกำลังจะมาเล่นงาน คุณสามารถไปคุยกับเพื่อน เดินเล่น ฝึกโยคะ ดูหนังเบาสมอง เขียนบันทึก หรือทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ตัวเองสงบลง ซึ่งก็อย่างที่บอก นั่นไม่ใช่ภารกิจที่มีแค่สำเร็จหรือล้มเหลว Dr Shahine กล่าวว่าคนเราสามารถท้องได้ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดรูปแบบไหน (มนุษย์ยุคหินยังสามารถมีลูกได้แม้ต้องคอยระวังสัตว์ซุ่มโจมตี) แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหายถ้าเราอยากจัดการความเครียดของตัวเองให้ดีขึ้น

3. เคลื่อนไหวร่างกาย แต่อย่าให้หมดแรง

ครั้งหนึ่งการออกกำลังกายเคยเป็นกิจกรรมต้องห้ามสำหรับคนเตรียมตั้งครรภ์ แต่วันนี้เราทุกคนรู้แล้วว่าการเคลื่อนไหวมีประโยชน์สำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงคนที่เตรียมตั้งครรภ์ด้วย งานวิจัยบางชิ้นยังบอกด้วยซ้ำว่าการออกกำลังกายสามารถบำรุงภาวะเจริญพันธุ์และการทำงานของประจำเดือนได้ไม่ว่าขนาดตัวหรือน้ำหนักจะเปลี่ยนไปอย่างไร อย่างไรก็ดี คำว่าออกกำลังกายก็ยังเป็นคำกว้างๆ ที่เราคงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนไม่ว่าจะทำกิจวัตรเดิมต่อหรือจะเริ่มกิจวัตรใหม่

เช่นเดียวกับความเครียดทางใจ ความสามารถในการฟื้นฟูร่างกายจากการออกกำลังกายก็คือกุญแจสำคัญ "เมื่อต้องอยู่ในสภาวะตึงเครียดไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ ร่ายกายจะขับสารอย่างเอ็นดอร์ฟินและคอร์ติซอลออกมา ซึ่งจะไปลดทอนการทำงานของระบบเจริญพันธุ์" Dr Shahine กล่าว นี่จึงเป็นสาเหตุที่แพทย์ทั่วไปไม่แนะนำให้เริ่มออกกำลังกายหนักๆ ช่วงเตรียมตั้งครรภ์ และสำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว Dr Shahine มักจะแนะนำให้ลดความหนักลงเล็กน้อย หรือลองเปลี่ยนไปออกกำลังกายที่ความเข้มข้นต่ำลงแทน แม้แต่คนไข้ที่เป็นสายออกกำลังกายแบบเอ็กซ์ตรีม เธอก็ยังแนะนำไม่ให้ออกกำลังกายจนถึงจุดที่หมดแรงหรืออยู่ในสภาพขาดแคลอรี่ เพราะอาจทำให้ฮอร์โมนและการตกไข่เกิดปัญหา แต่นอกจากที่กล่าวมานี้ Dr Shahine กล่าวว่า "ยังไงการเคลื่อนไหวก็มีประโยชน์"

ในท้ายที่สุดแล้ว เราอาจไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการท้อง แต่การรู้จักดูแลตัวเองให้ดี (และเลิกสนใจการไดเอท) จะทำให้เรามีพื้นฐานที่ดีและพร้อมเผชิญทุกอุปสรรคที่ต้องเจอในชีวิต

เรียบเรียงโดย Kelsey Miller
ภาพถ่ายโดย Vivian Kim

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมในทุกระยะตลอดเส้นทางสู่การเป็นแม่ เริ่มได้ที่โปรแกรม Nike (M) เคลื่อนไหวสไตล์คุณแม่กับแอพ Nike Training Club เพื่อดูวิธีออกกำลังกาย คำแนะนำด้านสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย

เผยแพร่ครั้งแรก: 17 พฤศจิกายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีค้นหาแรงจูงใจในการออกกำลังกายหลังคลอด

นี่ล่ะ Nike (M)

ข้ามผ่านกำแพงในจิตใจที่พบได้บ่อยในการเทรนนิ่งหลังคลอด

ความเครียดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไรและควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่ล่ะ Nike (M)

เจาะลึกเรื่องความเครียดและภาวะเจริญพันธุ์

วิธีรับมือกับอาการปวดและเจ็บระหว่างตั้งครรภ์ด้วยการเคลื่อนไหว โดยผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

วิธีรับมือเมื่ออาการปวดเมื่อยขณะตั้งครรภ์ทำให้คุณช้าลง

ฮอร์โมนรีแลกซินและปัจจัยการตั้งครรภ์อื่นๆ ส่งผลต่อการทรงตัวของคุณอย่างไร

นี่ล่ะ Nike (M)

เคล็ดลับการเทรนนิ่งขณะตั้งครรภ์และทรงตัวลำบาก

คุณสามารถออกกำลังกายแบบหนักหน่วงในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นี่ล่ะ Nike (M)

ระหว่างตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหนักแค่ไหนกัน