เจาะลึกเรื่องความเครียดและภาวะเจริญพันธุ์

นี่ล่ะ Nike (M)

การพยายามตั้งท้องอาจเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก เราเลยอยากนำวิธีดีๆ ในการดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้มาฝาก

อัพเดทล่าสุด: 15 พฤศจิกายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • งานวิจัยพบว่าความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ และเมื่อคุณเครียดที่ตัวเองไม่ตั้งครรภ์สักที นั่นก็อาจนำไปสู่วงจรที่ไม่น่าพิสมัยนัก
  • การฝึกรู้จักดูแลตนเองด้วยวิธีที่ทำแล้วได้ผลจริงจะช่วยความควบคุมความวิตกกังวลนั้นได้
  • โทรหาเพื่อน แต่ต้องโทรหาให้ถูกคน เพราะการคุยกับคนอื่นจะช่วยได้มากถ้าคนคนนั้นเคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือแม้จะไม่มีประสบการณ์ก็สามารถรับฟังเราด้วยความเห็นอกเห็นใจได้

อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

ความเครียดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไรและควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

*เนื้อหานี้ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่เพื่อการวินิจฉัย รักษา หรือให้คำแนะนำเฉพาะทางการแพทย์ จึงควรปรึกษากับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณอยู่เสมอเกี่ยวกับวิธีรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปลอดภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์

ใครที่พยายามป้องกันตัวเองไม่ให้ท้องมาตลอดชีวิตคงจะตกใจไม่น้อยเมื่อถึงคราวที่พร้อมจริงๆ กลับไม่ท้องอย่างที่หวัง ความตกใจนี้อาจกลายเป็นความเครียดและวิตกกังวลได้ หากเวลาผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่าแต่ก็ยังไม่ท้องสักที ประเด็นก็คือ ทุกคนมักจะบอกว่าความเครียดไม่ดีต่อภาวะเจริญพันธุ์ แต่ไม่มีใครบอกว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์ที่ชวนให้เครียดขนาดนี้โดยไม่รู้สึกเครียดได้ยังไง

"เมื่อความฝันที่เราต้องการอย่างลึกซึ้งอยู่ไกลเกินเอื้อม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความเครียดขึ้นได้" Lucy Hutner, MD จิตแพทย์จากนครนิวยอร์กและหัวหน้าบรรณาธิการของหนังสือ Textbook of Women’s Reproductive Mental Health กล่าว ยิ่งไปกว่านั้น "ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในผลลัพธ์ที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมดก็เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความเครียด" เพราะงั้นขอให้มั่นใจไว้ว่า ความเครียดไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวิธีจัดการกับความเครียดซะทีเดียว ในบทความนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะมาบอกให้เราฟังว่าความเครียดเป็นตัวแปรสำคัญแค่ไหนในกระบวนการตั้งครรภ์ แล้วมีเทคนิคอะไรบ้างที่จะมาคลายความเครียดตรงนี้ได้

เข้าใจบทบาทของความเครียดในภาวะเจริญพันธุ์

การบอกให้ใจเย็นๆ เดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไปไม่เคยช่วยได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบไหน แต่ถึงอย่างนั้นการทำความเข้าใจว่าความเครียดส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์อย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญ จากงานวิจัยเมื่อปี 2008 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Dialogues in Clinical Neuroscience นักวิจัยพบว่าความเครียดที่ลดลงอาจเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้จริง Alice Domar, PhD หัวหน้าฝ่ายดูแลช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจที่ Inception Fertility และรองศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และชีววิทยาการเจริญพันธุ์ที่ Harvard Medical School เมืองบอสตัน กล่าวว่า "มีงานวิจัยหลายตัวที่แสดงให้เห็นการแทรกแซงทางจิตวิทยาที่มีผลกระทบอย่างมากต่ออัตราการตั้งครรภ์" โดยตลอดการค้นคว้าวิจัยมายาวนานหลายสิบปี Domar พบว่าเมื่อผู้หญิงที่อยู่ในภาวะมีบุตรยาก (Infertility) เข้าสู่การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) และการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ (Mind-Body Intervention) เช่น การนั่งสมาธิ ผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าผู้หญิงทั่วไป 2-3 เท่า

คุยกับตัวเองด้วยกรอบความคิดใหม่

Domar กล่าวว่า สิ่งที่มักจะได้ผลที่สุดกับผู้ป่วยที่มีบุตรยากคือการใช้กลยุทธ์การจัดการความเครียด หรือก็คือการปรับเปลี่ยนความคิด (Cognitive Restructuring) สำหรับใครที่เห็นว่าตัวเองจมดิ่งอยู่ในเกลียวความคิดเชิงลบไม่หยุด เช่น "ฉันมันแย่เองที่เกิดมามีลูกยาก" Domar แนะนำให้ท้าทายความคิดนั้น "ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า 'ชาตินี้คงมีลูกไม่ได้แล้ว' ฉันจะถามว่า 'ถ้าอย่างนั้นคุณจะยอมเสียเงินมาทำ IVF ทำไม'" Domar กล่าว "เห็นได้ชัดว่าคนคนนี้มีความหวัง เพราะงั้นแทนที่จะคิดว่า 'ชาตินี้คงมีลูกไม่ได้แล้ว' ให้เปลี่ยนมาคิดใหม่ว่า "อะไรที่ช่วยให้มีลูกจะทำให้เต็มที่เลย" หรือใช้วิธีขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น เช่น "ไม่ว่าจะมีลูกเมื่อไหร่หรือด้วยวิธีไหน อย่างน้อยก็โชคดีจริงๆ ที่ตอนนี้พร้อมเป็นแม่คนแล้ว"

ความเครียดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไรและควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

หากิจกรรมสร้างความผ่อนคลาย

ถ้าการแช่ตัวในอ่างอาบน้ำฟองสบู่ไม่ใช่แนวก็ไม่เป็นไร วิธีดูแลตัวเองไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว Natalie Crawford, MD แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์และผู้ร่วมก่อตั้ง Fora Fertility ณ เมืองออสติน รัฐเท็กซัส กล่าว สิ่งที่มีผลคือการจัดสรรเวลามาลงมือทำจริงๆ "ตัวอย่างเช่น การฝังเข็มก็ช่วยลดความเครียดและอาจมีประโยชน์ด้วย ตามที่งานวิจัยด้านภาวะเจริญพันธุ์บางตัวระบุไว้ อย่างไรก็ตามการฝังเข็มนี้ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกับการฝังเข็มหลอก ซึ่งก็คือการให้ประสบการณ์แบบเดียวกันแต่ฝังในจุดที่ไม่ใช่จุดฝังเข็ม ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย" หรือก็คือแค่ก้าวออกมาจากกิจวัตรประจำวันแล้วมุ่งความสนใจไปที่ตัวเอง สิ่งนี้จะช่วยได้มากที่สุด หรืออาจจะเขียนบันทึก ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือทำงานอดิเรกอื่นๆ ไม่ว่าจะเลือกทำอะไร Crawford แนะนำให้ทุ่มเทกับกิจกรรมนั้นอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน

เล่าให้เพื่อนฟัง เลือกเฉพาะคนที่เข้าใจและยินดีรับฟังประสบการณ์ของคุณ

สมมติคุณมีน้องสะใภ้ น้องสะใภ้คนนี้ประกาศว่าเธอตั้งท้องลูกคนที่สามแล้ว ในขณะที่ตัวคุณยังไม่มีลูกคนแรกเลยด้วยซ้ำ คนที่คุณต้องการในสถานการณ์นั้นคือคนที่พร้อมเข้าใจว่าทำไมเรื่องที่น่าจะเป็นข่าวดีแบบนี้กลับทำให้คุณร้องไห้เสียใจ และไม่บอกปัดคุณไปว่าอย่าคิดมาก "บางครั้งเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกันมากๆ ก็อาจไม่ใช่คนที่ช่วยเรื่องนี้ได้" Hutner กล่าว "เพื่อนที่เรารู้จักอาจเป็นคนดีและไม่ได้คิดร้ายกับเรา แต่ถ้าเพื่อนคนนั้นเกิดตั้งท้องไปแล้ว มันก็น่าอึดอัดใจที่จะเข้าหาอยู่ดี" เราควรมองหาคนที่สามารถให้คำปรึกษาได้โดยไม่ตัดสินเรา Crawford เสริมต่อไปว่า ถ้าสุดท้ายคนรอบตัวที่คุณรู้จัก หรือคนในโลกออนไลน์ที่คุยกันถูกคอยังไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้ (หรือต่อให้มีที่ปรึกษาที่ดีอยู่แล้วก็เถอะ) การบำบัดก็อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับคุณ

เชื่อมต่อกับร่างกายมากขึ้น

นึกภาพตอนทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะ ตอนวัดอุณหภูมิร่างกาย และตอนที่เราอ่อนไหวง่ายกับทุกๆ สัญญาณและอาการผิดแปลกของตัวเอง "เมื่อคุณพยายามตั้งท้อง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับร่างกายตัวเอง" Hutner กล่าว "เวลาร่างกายไม่ยอมทำตามที่เราต้องการ มันเป็นอะไรที่เจ็บปวดและสับสนมาก ฉันจะคอยแนะนำให้คนไข้ทำอะไรก็ได้เพื่อเชื่อมต่อกับร่างกายในทางที่เป็นบวก" ซึ่งอาจหมายถึงออกกำลังกายอย่างที่เคยทำมาอยู่แล้ว ลองออกกำลังกายด้วยวิธีใหม่ ไปนวดถ้าพอจะมีงบ หรือไม่ก็ทำสมาธิด้วยวิธีสแกนร่างกาย

กุญแจสำคัญคือการหาทางดูแลและทะนุถนอมร่างกายอย่างที่มันต้องการในขณะนั้น เพราะอย่าลืมว่าร่างกายนี้อาจไม่ใช่ของคุณคนเดียวตลอดไป

เรียบเรียงโดย Jihan Myers
ภาพถ่ายโดย Vivian Kim

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คลายเครียดด้วยโปรแกรมออกกำลังกายที่ใช่สำหรับคุณกับแอพ Nike Training Club จากนั้นเช็คคำแนะนำด้านทัศนคติอื่นๆ จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ

เผยแพร่ครั้งแรก: 18 พฤศจิกายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีค้นหาแรงจูงใจในการออกกำลังกายหลังคลอด

นี่ล่ะ Nike (M)

ข้ามผ่านกำแพงในจิตใจที่พบได้บ่อยในการเทรนนิ่งหลังคลอด

การออกกำลังกายสามารถเตรียมความพร้อมในการคลอดให้คุณได้อย่างไร ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

เคล็ดลับเสริมทัศนคติเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมก่อนคลอดได้อย่างมั่นใจ

คุณสามารถออกกำลังกายแบบหนักหน่วงในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นี่ล่ะ Nike (M)

ระหว่างตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหนักแค่ไหนกัน

วิธีออกกำลังกายหลังจากการแท้งบุตร โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

คู่มือฉบับนุ่มนวลเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายหลังแท้ง

เหตุผลที่คุณควรลองเล่นโยคะระหว่างตั้งครรภ์ โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

โยคะระหว่างตั้งครรภ์ใช่การออกกำลังกายที่คุณเฝ้ารอหรือเปล่า