การยืนหยัดคือพรสวรรค์หรือพรแสวง

การโค้ช

ความสามารถในการยืนหยัดสู้นั้นมาจากยีนของเรา แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความมุมานะเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ ฝึกฝนทักษะนั้นเพื่อความก้าวหน้าไม่มีสิ้นสุด

อัพเดทล่าสุด: 6 กันยายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • คนที่มีความอุตสาหะนั้นสามารถตามล่าคว้าเป้าหมายได้โดยไม่ย่อท้อ แต่ไม่ว่าใครก็ฝึกสมองเพื่อให้ตัวเองมีความเพียรพยายามมากขึ้นได้
  • กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนด้วยการเขียนออกมา แล้วติดตามความก้าวหน้าเพื่อรักษาจังหวะของคุณไว้ไม่ให้แผ่ว
  • ถ้าอยากทำให้สำเร็จก็ต้องเชื่อในตัวเอง และการพูดดีกับตัวเองก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคความก้าวหน้า

อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

การยืนหยัดคือพรสวรรค์หรือพรแสวง

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณและเพื่อนได้ให้คำมั่นกันว่าจะพิชิตโปรแกรมออกกำลังกายแบบ 30 วันให้จงได้ และหมู่นี้คุณก็คืบหน้าไปมากด้วยการตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อบริหารร่างกาย แถมบางทียังแอบไปวิ่งจ๊อกกิ้งช่วงพักเที่ยงด้วย ในทางกลับกัน พาร์ทเนอร์เทรนนิ่งของคุณไม่ได้ออกกำลังกายเลยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกันนะ

ถ้าว่ากันตามตรง สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องของแรงจูงใจ แต่เป็นการยืนหยัด ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่เหมือนกัน

การยืนหยัดคือความสามารถในการตามล่าคว้าเป้าหมายอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องหรือพิชิตปริญญาเพิ่มอีกใบ แม้ว่าจะทำได้ยากหรือว่าท้าทายก็ตาม Alexandra Touroutoglou, PhD ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาประจำ Harvard Medical School กล่าว โดย Touroutoglou ได้นำทีมศึกษาวิจัยเรื่องสมองของสัตว์และมนุษย์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะนิสัยนี้ให้มากขึ้น และหาคำตอบว่าทำไมพวกเราบางคน (เช่น คนที่เล่นครอสฟิตเป็นประจำและผู้ชื่นชอบฝึกโยคะที่เล่นสัปดาห์ละ 7 วัน) จึงแสดงลักษณะนิสัยนี้มากกว่า ในขณะที่คนอื่นมักจะกดปุ่มเลื่อนปลุกแทนที่จะไปเข้ายิม

กิจกรรมยากๆ อย่างการบริหารร่างกายนั้น เป็นการกระตุ้นศูนย์กลางระบบประสาทที่เรียกว่า Anterior Midcingulate Cortex (หรือ aMCC) และโดยธรรมชาติแล้ว บางคนจะมีส่วนนี้เจริญเติบโตมากกว่าของคนอื่น หากมี aMCC ที่ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ก็จะคาดการณ์ได้ว่าร่างกายต้องใช้แรงเพียงใดในกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้รวบรวมพลังงานของร่างกายมาใช้รับมือกับกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน หากมี aMCC ที่ทำหน้าที่ได้ไม่ค่อยดีนัก ก็อาจทำให้ประเมินแรงที่ต้องใช้สูงเกินไป และประเมินรางวัลที่ได้ต่ำเกินไป

แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือทีมงานของ Touroutoglou พบว่า เราฝึกฝนด้านความอิ่มเอมใจที่มีต่อการไขว่คว้าเป้าหมายได้ ไม่ต่างจากการฝึกกล้ามเนื้อเลย โดยเธอบอกว่า "อาจเป็นไปได้ที่คนเราจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับ aMCC ซึ่งก็จะไปเสริมในเรื่องการยืนหยัดด้วย" กล่าวโดยสรุปก็คือ ยิ่งคาดคะเนแรงที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมให้สำเร็จได้ดีเท่าใด ก็จะยิ่งจัดการกับกิจกรรมดังกล่าวได้มากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะลงมือปฏิบัติมากขึ้นด้วย

การฝึกฝนทำให้เกิดความเพียร

การสร้างทัศนคติที่ไม่ย่อท้ออาจเป็นเรื่องง่ายจนต้องประหลาดใจ เพราะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าหลักใหญ่ใจความก็คือการปรับให้กิจกรรมนั้นทำได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงก้าวออกไปลงมือปฏิบัติ แล้วให้ทำซ้ำไปซ้ำมา ต่อไปนี้คือวิธีเริ่มต้น

การยืนหยัดคือพรสวรรค์หรือพรแสวง

1. ตั้งและติดตามเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจง

"สิ่งสำคัญคือต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าคุณกำลังอยากได้อะไรอยู่ มิฉะนั้นก็เหมือนกับมุ่งหน้าไปอย่างไร้ทิศทาง" Nicole Gabana, PhD ผู้อำนวยการด้านจิตวิทยาการกีฬาที่มหาวิทยาลัย University of Massachusetts Amherst กล่าว เป้าหมายดังกล่าวนั้นควรมีความท้าทายแต่ก็พิชิตได้จริง การลงแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่รู้สึกว่าไขว่คว้าไม่ได้ หรือแย่ไปกว่านั้นคือเป็นไปไม่ได้เลย รังแต่จะเติมเชื้อไฟให้ความคับข้องใจ ซึ่งทำให้หมดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ เราจึงต้องเขียนเป้าหมายของตัวเองออกมา ทั้งเป้าหมายเล็กๆ และในระยะสั้น รวมถึงเป้าหมายที่ "ขยายออกไป" ซึ่งเป็นแผนระยะยาวหรือแผนในระดับที่ใหญ่ขึ้น แล้วคอยติดตามเป้าหมายนั้นไปตลอดทาง

สมมติว่าเป้าหมายที่ขยายออกไปของคุณคือการพิชิตทวิกีฬา (การแข่งขันที่ต้องวิ่ง ปั่นจักรยาน แล้ววิ่งต่อ) ในอีก 6 เดือน เป้าหมายนี้อาจเป็นเรื่องท้าทายเพราะคุณไม่ได้ปั่นจักรยานบนท้องถนนบ่อยนัก แต่ก็เป็นเป้าหมายที่พิชิตได้เพราะคุณวิ่งและปั่นจักรยานในร่มเยอะอยู่แล้ว ให้ซอยเป้าหมายนั้นออกเป็นเป้าหมายเล็กๆ อย่างระยะทางที่ต้องพิชิตให้ได้ในแต่ละเดือน หรือชั่วโมงการนอนในแต่ละสัปดาห์ เป้าหมายเล็กๆ เหล่านี้คือขั้นบันไดที่จะนำพาคุณไปพิชิตเป้าหมายใหญ่ และการใช้แอพอย่าง Nike Run Club หรือการบันทึกทุกสิ่งที่ทำสำเร็จลงในปฏิทินนั้นก็จะช่วยเตือนให้เราเห็นภาพความก้าวหน้าของตัวเอง ซึ่งทำให้มีแรงใจที่จะไปต่อ

2. กำหนดกิจวัตร

การพยายามจัดตารางออกกำลังกายไว้ในชั่วโมงเดียวกัน การตั้งเวลาปลุกให้ตื่นในเวลาเดียวกันให้ได้มากที่สุด การลุกออกจากเตียงแล้วไปดื่มน้ำก่อนเลยหลังตื่นนอนในแต่ละเช้า ล้วนช่วยสร้างความสม่ำเสมอ "เวลาที่เรามีวินัยกับตัวเองด้วยการทำบางสิ่งซ้ำๆ ร่างกายก็จะมีการปรับตัว" Patricia Deuster, PhD ผู้อำนวยการศูนย์ Consortium for Health and Military Performance ประจำมหาวิทยาลัย Uniformed Services University กล่าว "คุณจะพัฒนาวิถีประสาทใหม่ ราวกับว่ากำลังเรียนรู้ที่จะเล่นไวโอลินอยู่"

การก่อนิสัยให้เป็นกิจวัตรตายตัวจะเป็นการลดอุปสรรคลงไปอีกขั้น แต่ถ้ารู้สึกว่าการเริ่มสร้างนิสัยขึ้นมาช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ก็ให้ค่อยๆ ทำไปทีละวัน เพราะทุกครั้งที่ทำ ก็ถือว่าคุณได้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว

3. ให้กำลังใจตัวเอง

ลองคิดดูว่าปกติคุณบอกอะไรกับตัวเองบ้างเกี่ยวกับความสามารถของคุณในการลดน้ำตาลหรือพิชิตทวิกีฬา "การเปลี่ยนแนวโน้มทางจิตวิทยาบางอย่างที่เรามีอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย" Gabana กล่าว "นี่เป็นหนึ่งในความท้าทายอันแยบยลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะรู้เท่าทันความคิดของตัวเองให้มากขึ้น และความคิดที่เรามีนั้นส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรม อารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น"

คนที่มีความอุตสาหะส่วนใหญ่จะไล่ล่าคว้าเป้าหมายเพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าตนทำได้ ไม่ใช่เพราะตัวเองไม่ได้คิดว่าจะทำได้ ดังนั้นจึงต้องแน่ใจว่าการคุยกับตัวเองนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เช่นจาก "ฉันไม่มีแรงใจที่จะทำ" หรือ "ฉันวิ่งไม่เก่งเลย" ไปเป็น "ฉันแข็งแกร่งกว่าที่ตัวเองคิด" เมื่อคุณเริ่มพิชิตเป้าหมายได้ การเปลี่ยนความคิดก็จะเริ่มเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น

4. ใช้จินตภาพ

สมมติว่าคุณรู้สึกกังวลกับการไปวิ่งระยะไกลที่ได้วางแผนไว้สำหรับสุดสัปดาห์นี้ ถ้าอยากให้ aMCC ทำงานได้ดีไม่ว่อกแว่กเมื่อเริ่มจะเกเร ก็ให้นึกภาพตัวคุณเองพิชิตเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้จินตภาพช่วยให้ใจคนเราพร้อมสู้และเสริมความมั่นใจในตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้การก้าวออกไปลงมือปฏิบัติจริงเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น

เมื่อได้ลงมือทำจริงๆ ก็คงไม่ได้แย่อย่างที่คิดหรอก แต่ถ้าคุณยังรู้สึกแย่อยู่ อย่างน้อยคุณก็ไม่ได้หยุดพยายาม นี่แหละที่เรียกว่าความก้าวหน้า

เรียบเรียงโดย Janet Lee
ภาพประกอบโดย Gracia Lam

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อเริ่มรู้จักการยืนหยัดแล้ว ก็เริ่มโปรแกรมการท้าทายเพื่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันในแอพ Nike Training Club ได้เลย จากนั้นไปที่ nike.com เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีตั้งเป้าและไปให้ถึงทุกเป้าหมายของคุณ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อเริ่มรู้จักการยืนหยัดแล้ว ก็เริ่มโปรแกรมการท้าทายเพื่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันในแอพ Nike Training Club ได้เลย และหากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มท้อ ก็เปิดพอดแคสต์ Trained ได้เลยเพื่อฟังการพูดคุยและค้นหาแรงบันดาลใจจากความบากบั่นของ Saquon Barkley นักกีฬาตำแหน่งรันนิ่งแบ็คสังกัดทีม New York Giants

เผยแพร่ครั้งแรก: 12 กันยายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมปรากฏการณ์ยาหลอกถึงใช้ได้ผล

การโค้ช

สัมผัสกับพลังแห่งปรากฏการณ์ยาหลอก

6 นิสัยในการมีวิธีคิดแบบนักกีฬา

การโค้ช

หนีจากความไม่มั่นใจในตัวเองด้วยวิธีคิดที่ดีกว่า

วิธีง่ายๆ เพื่อหยุดการกินเพราะความเครียด

การโค้ช

การกินตามอารมณ์คืออะไร แล้วจะหยุดได้อย่างไร

เพิ่มพลังงานทางจิตใจเพื่อแสดงประสิทธิภาพอย่างแข็งแกร่ง

การโค้ช

อย่าให้ความเหนื่อยล้าทางใจมาห้ามคุณออกกำลังกาย

ฉันจะเร็วขึ้นได้อย่างไร

การโค้ช

เร่งความเร็วอย่างไม่ฝืนตัวเอง