ถามโค้ช: “ทำอย่างไรไม่ให้พ่อแม่ล้ำเส้น”
การโค้ช
เมื่อความกระตือรือร้นของพ่อแม่ถ่วงให้นักวิ่งรุ่นเยาว์ต้องชะลอตัวลง Patrick Sang โค้ชของ Eliud Kipchoge จึงก้าวเข้ามาเทรนให้ทั้งครอบครัว
ถามโค้ช คือคอลัมน์ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาความมุ่งมั่นในกีฬาของคุณ
ถาม:
สวัสดีค่ะโค้ช
พ่อฉันเล่นฟุตบอลมาตลอดจนกระทั่งบาดเจ็บตอนมหาลัย ส่วนแม่ฉันโตมากับการเล่นเทนนิส และคงเป็นนักเทนนิสอาชีพถ้าเลือกได้ พอตอนนี้ที่ฉันเข้าทีมวิ่งลู่ตัวแทนมหาลัย พ่อแม่ก็กดดันให้ฉันทำให้ดีกว่าเดิมอยู่เรื่อยๆ เหมือนว่าฉันจะช่วยเติมเต็มฝันที่ไม่เป็นจริงของทั้งคู่ได้ ฉันตกหลุมรักการวิ่งลู่เพราะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี แต่ตอนนี้กลับรู้สึกเหมือนทำเพื่อพ่อแม่ ฉันจะกลับมาเป็นตัวของตัวเองในกีฬาที่ตัวเองเล่น แล้วปัดเสียงของพ่อแม่ออกไปเพื่อจะได้กลับมามีความสุขกับการวิ่งอีกครั้งได้อย่างไรบ้างคะ
Pressure Undermining Sports Hunger (แรงกดดันลดหลั่นความกระหายในกีฬา)
สปรินเตอร์อายุ 17 ปี
ตอบ:
คุณอาจจะไม่รู้ตัวหรอกนะ แต่กัดฟันเดินหน้าต่อเถอะเพราะมาได้ครึ่งทางแล้ว
ผมเคยรู้สึกโดนกดดันเหมือนกันตอนเริ่มวิ่งครั้งแรกที่ University of Texas ที่ออสติน หัวหน้าโค้ชมองหานักวิ่งรุ่นต่อไปโดยอิงจากสถิติและตัวเลข ตอนที่เราเจอเขาครั้งแรก เขาถามคำถามถึงตัวเราและประวัติด้านการวิ่ง พอเขาไล่ถามไปทีละคน ผมบอกได้เลยครับว่าเขาดูผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ กับระดับประสบการณ์ที่เรามี เขาพกความคาดหวังมาสูงมาก และเราก็ไม่ได้ตรงตามที่เขาหวังไว้ เขาฉุนเฉียวมาก มองตาเขาดูก็รู้ ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกที่แย่มาก
ในที่สุด ผมก็ได้รู้ว่าโค้ชเองก็ต้องรับแรงกดดันมากๆ ในการรวมทีมที่จะคว้าชัยชนะ และเขาก็ส่งต่อแรงกดดันนั้นมาให้พวกเรา การรู้ว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างช่วยให้ผมแยกความกังวลที่รับมาจากเขาออกไปจากตัวเองได้ และช่วยให้ผมคุยกับโค้ชอย่างเข้าอกเข้าใจแทนที่จะใช้ความโกรธ ไม่นานหลังจากนั้นเราก็ได้เข้ารับการทดสอบแบบจับเวลาและผมก็ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมา บอกได้เลยครับว่าพอได้พิสูจน์ว่าเขาคิดผิดเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกดีมากๆ แต่คงทำแบบนั้นไม่ได้ถ้าไม่ได้เข้าใจมุมมองของเขา
ผมถึงได้บอกว่าคุณมาได้ครึ่งทางแล้ว คุณพยายามอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมผู้ปกครองของคุณถึงแสดงท่าทีแบบนี้ เหมือนที่คุณบอกแหละครับ พวกเขาพยายามจะทำตามฝันของตัวเองโดยใช้คุณ คุณรู้ว่ามันไม่เกี่ยวกับความสามารถของตัวคุณ แต่มันคือความเสียดายที่พวกเขารู้สึกเพราะไม่ได้ทำความฝันตัวเองให้เป็นจริง การเข้าใจจุดนั้นช่วยให้คุณพร้อมจัดการกับความท้าทายนี้ ผมมีอีกเรื่องที่น่าจะช่วยรับมือกับส่วนที่เหลือได้ด้วยนะ…
ช่วงปี 80 ที่ผมเริ่มวิ่งลู่ วงการวิ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในเคนย่า ประเทศบ้านเกิดของผม ผู้คนเริ่มมองว่ากีฬาเป็นโอกาสในการได้งาน ได้ทุนการศึกษา หรือกระทั่งโอกาสในการไปประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นผมก็เริ่มเห็นนักวิ่งที่คู่สมรสกับคนในครอบครัวมองพวกเขาเป็นแหล่งทำเงิน พวกเขามักจะอยากให้นักวิ่งทำได้ดี ที่อาจจะไม่ใช่ในแง่ของความสามารถ แต่เป็นแง่ของเม็ดเงิน การสร้างแรงกดดันให้นักกีฬาแบบนี้ก็เหมือนการเพิ่มน้ำหนักที่พวกเขาต้องแบกรับ ซึ่งมักจะฉุดรั้งให้พวกเขาช้าลง
บางครั้ง คำตอบอาจจะไม่ใช่การปัดครอบครัวออกไป แต่เป็นการเปิดรับเพื่อให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการฝึกฝนเตรียมตัวของเรา เข้าใจความมุ่งมั่นที่เรามี
ญาติๆ มักจะคิดว่าการสร้างแรงกดดันจะช่วยให้พวกเขาบรรลุฝั่งฝัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มองว่านักวิ่งต้องพยายามมากขึ้นอีกนิดในวันแข่งก็พอ โดยไม่เคยเห็นความพยายามจริงๆ ที่ทุ่มลงไปในการเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมหลายต่อหลายชั่วโมง และไม่รู้ว่าแรงผลักดันที่มีพลังมากที่สุดมาจากข้างในของตัวนักวิ่ง
คุณบอกว่าพ่อแม่คุณเป็นนักกีฬาเหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าพวกท่านจะลืมความพยายามวันต่อวัน และลืมว่ากีฬาทุกประเภทจำเป็นต้องผ่านความยากลำบากและการเสียสละ ผมว่าคุณควรชวนพ่อแม่มาซ้อมวิ่งด้วยกัน ให้พวกท่านได้เห็นตอนคุณวอร์มอัพ ยืดเหยียด และออกตัวจากจุดเริ่มครั้งแล้วครั้งเล่า ให้พวกท่านเห็นคุณฝึกเพื่อให้ได้เพซ ท่วงท่า และความอึดทางจิตใจ พอพวกท่านเห็นว่ากีฬาของคุณต้องใช้อะไรบ้างจริงๆ พวกท่านอาจจะเริ่มเข้าใจว่าคุณกำลังผลักดันตัวเองอยู่ทุกวันยังไง พวกท่านอาจจะสามารถปล่อยวางความกังวลใจแล้วเปลี่ยนมาให้กำลังใจลูกด้วยคำว่า “ลูกทำได้”
บางครั้ง คำตอบอาจจะไม่ใช่การปัดครอบครัวออกไป แต่เป็นการเปิดรับเพื่อให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการฝึกฝนเตรียมตัวของเรา เข้าใจความมุ่งมั่นที่เรามี
ถ้าการทำแบบนี้ไม่ช่วยให้พวกท่านลดแรงกดดันที่มีต่อคุณ คุณก็ต้องพูดออกมา บอกให้พวกท่านรู้ว่าคำพูดเหล่านั้นทำให้คุณเสียสมาธิมากกว่าจะได้กำลังใจ บอกพวกท่านว่าคุณรักกีฬานี้มากแค่ไหน เหมือนที่พวกท่านรักในกีฬาที่เคยเล่น อาจจะต้องใช้ความกล้าหน่อย แต่คุ้มค่าแน่นอนครับ
ถ้าพ่อแม่คุณอยู่กับผมตอนนี้ ผมจะบอกเลยว่าพวกท่านโชคดีที่มีลูกสาวแบบคุณ ลูกสาวที่รักในกีฬาที่เล่นจริงๆ ผมจะบอกว่าความรักในการวิ่งของคุณเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การปกป้อง ทะนุถนอม และสนับสนุน ไม่ใช่ผลักดันจนไปถึงขั้นท้อแท้และอยากเลิก จากนั้นผมจะบอกว่าสิ่งที่พวกท่านทำอยู่ไม่ช่วยให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ บอกว่าต้องปล่อยให้มีลมพัดผ่านบ้าง เปลวไฟในตัวคุณถึงจะได้ลุกโชน
และนี่เป็นข้อคิดเตือนใจที่ผมมีให้ทั้งคุณและพ่อแม่ ทุกคนต้องการสิ่งเดียวกัน ทั้งตัวคุณและพ่อแม่ของคุณอยากให้ตัวคุณดึงศักยภาพที่มีออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าคุณทำให้พ่อแม่เข้าใจได้ว่าเส้นทางไปสู่จุดนั้นคือการสนับสนุน ไม่ใช่กดดัน ผมมั่นใจว่าคุณจะค้นพบความสุขในการวิ่งอีกครั้ง และพ่อแม่ของคุณอาจจะชื่นชอบมันมากขึ้นเช่นกัน จากระยะห่างที่พอเหมาะพอดี
โค้ช Sang
Patrick Sang เป็นโค้ชนักวิ่งชาวเคนย่าและนักวิ่งเกษียณอายุ ตั้งแต่ที่ได้เป็นโค้ชให้ Eliud Kipchoge เมื่อปี 2002 Sang ช่วยให้เขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ทำสถิติโลกในการวิ่งมาราธอน จนกลายเป็นชายคนแรกที่ทำเวลาวิ่งมาราธอนได้น้อยกว่า 2 ชั่วโมง Sang ในฐานะนักวิ่งประจำชาติเคนย่า เคยคว้าเหรียญเงินจากงาน World Athletics Championships ปี 1991, งานโอลิมปิกปี 1992 และ World Athletics Championships ปี 1992 ในการแข่งขันวิ่งวิบาก 3,000 เมตร ในด้านการเรียนระดับอุดมศึกษา Sang จบจาก University of Texas ที่ออสติน และสร้างสถิติประจำมหาลัยได้ในการแข่งขันวิ่งวิบาก 3,000 เมตร
ส่งอีเมลคำถามเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกีฬาและสุขภาพได้ที่ askthecoach@nike.com
ภาพถ่ายโดย Kyle Weeks
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ