ถามโค้ช: “ผมจะเล่นกับเพื่อนร่วมทีมที่ชอบหาเรื่องได้อย่างไร”

การโค้ช

Gjert Ingebrigtsen จากนอร์เวย์บอกนักฟุตบอลรุ่นเยาว์คนหนึ่งถึงวิธีเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอันธพาลประจำทีม รวมถึงวิธีที่ทำให้อันธพาลคนนั้นต้องรับผิดชอบด้วย

อัพเดทล่าสุด: 20 กันยายน 2564
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
วิธีรับมือกับคนที่ชอบกลั่นแกล้ง โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

ถามโค้ช คือคอลัมน์ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาความมุ่งมั่นในกีฬาของคุณ

ถาม:

สวัสดีครับโค้ช

มีนักบอลคนหนึ่งในทีมที่ชอบทำตัวแย่มากๆ กับผมครับ ผมสาบานเลยว่าผมทำอะไรก็ผิดไปหมดในสายตาเขา สัปดาห์ก่อน ผมทำประตูชัยได้ แล้วเขาก็เข้ามาหาเรื่องผม บอกว่าผม “เห็นแก่ตัว” แค่ไหนที่ไม่ส่งบอลไปให้เขา แต่นัดก่อนหน้านั้น พอผมตั้งใจส่งให้เขาจริงๆ เขาตะโกนใส่ผมเพราะผมไม่ยิงเอง แล้วบอกว่าผมมี “จิตใจปวกเปียก” เขาทำตัวเหมือนกับเขากำลังจะปลูกฝังทัศนคติที่จะทำให้ชนะ แต่การที่เขาเริ่มด้วยวิธีแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกเป็นพวกขี้แพ้เลยครับ และผมก็ไม่ได้โดนคนเดียว เพราะเขาทำตัวเฮงซวยกับแทบทุกคนในทีม ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศแย่ๆ ด้วย ผมจะสลัดคำวิจารณ์ของเขาที่มีมาเรื่อยๆ ได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้มีสมาธิกับเกมครับ


Hearing Every Last Point (โดนแทบทุกเรื่อง)

นักฟุตบอลอายุ 17 ปี

ตอบ:

สิ่งแรกที่ผมขอพูดคือ เสียใจกับคุณ HELP ด้วยนะครับที่ต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ การมีคนเข้าหาคุณโดยที่ขึ้นเสียงและใช้น้ำเสียงโกรธเกรี้ยวเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เกิดวัฏจักรแย่ๆ ขึ้น เมื่อทุกการตัดสินใจที่คุณทำโดนโจมตีให้เจ็บช้ำน้ำใจ คุณจะเริ่มเข้าใจว่าคราวหน้าจะถูกโจมตีอีก คุณจะคิดว่าถ้าฉันส่งบอล ก็คงโดนว่า ถ้าไม่ส่ง ก็โดนว่าอีก แล้วคุณก็จะทำอะไรไม่ถูก ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แล้วฟอร์มการเล่นของคุณก็จะแย่ลงครับ

ความเกลียดชังประเภทนี้มักลงเอยด้วยการทำให้วัฒนธรรมโดยรวมของทีมเป็นพิษครับ ผมสังเกตเห็นมาตลอดว่าพอผู้เล่นถูกบูลลี่ พวกเขาจะเริ่มไปบูลลี่คนอื่นอีกเป็นทอดๆ ลูปของการให้ฟีดแบคแบบนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนในไม่ช้า สภาพแวดล้อมด้านลบและความหงุดหงิดก็จะกลายเป็นเรื่องปกติไป และจะส่งผลต่อฟอร์มการเล่นของทุกคนในทีมครับ

พฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะในกีฬาประเภทใดครับ ในฐานะโค้ช ผมเชื่อว่าวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่นสำคัญมากกว่าถ้วยหรือเหรียญรางวัล เรื่องนี้ใหญ่กว่าการเป็นนักกีฬาที่ดีเสียอีก เพราะมันคือการปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีต่อกันครับ ด้วยเหตุนี้ผมจึงเริ่มต้นทุกๆ ฤดูกาลด้วยการพูดคุยกับทุกคนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นและผลของการทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีทั้งผู้เล่นที่ทำประตูสูงสุด ผู้เล่น MVP และในกรณีของผมคือ ลูกๆ ครับ

ผมมาเป็นโค้ชเพราะอยากโค้ชให้กับลูกชายผม Henrik, Filip และ Jakob ครับ ทุกวันนี้ ผมโค้ชให้พวกเขาในกีฬาวิ่งระยะกลางระดับมืออาชีพ แต่เราเริ่มต้นจากการเล่นสกีครอสคันทรีและฟุตบอลครับ

วิธีรับมือกับคนที่ชอบกลั่นแกล้ง โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

ลูกชายผมมักจะอยู่ในสถานการณ์ตรงกันข้าม ผมไม่บอกว่าคนไหนนะ แต่เขาเป็นคนชอบทำตัวหยิ่งผยอง ชอบพูดจาแย่ๆ ใส่นักกีฬาคนอื่นในระหว่างหรือหลังงานแข่ง หรือในเซสชันฝึกซ้อม จนผมถึงกับต้องลากออกจากสนามแล้วตำหนิว่า “นี่ไม่ใช่วิธีที่ควรพูดกับคนอื่นๆ พวกแกจะกลับไปสนามได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองแล้ว” การป้องกันไม่ให้พฤติกรรมแย่ๆ เกิดขึ้นในทีมเป็นหน้าที่ของผมครับ ผมจึงไม่เคยลังเลที่จะกำหนดขอบเขตชัดเจนให้กับลูกๆ ผม

ผมควรจะพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อย การบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น เราเจอการบูลลี่ได้ทั้งในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในละแวกบ้าน แต่พอมาอยู่ในการแข่งขันกีฬา บรรยากาศที่ดุเดือดจะค่อนข้างมีผลกับระดับอะดรีนาลีนในตัวคน ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินควบคุมมากขึ้น

ผมเชื่อว่าวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่นสำคัญมากกว่าถ้วยหรือเหรียญรางวัล เรื่องนี้ใหญ่กว่าการเป็นนักกีฬาที่ดีเสียอีก เพราะมันคือการปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีต่อกันครับ

เหตุการณ์แบบนี้จะคล้ายๆ กับเวลาบางคนไปดื่มมาแล้วเกิดอาการก้าวร้าว ซึ่งพวกเขาอาจจะรู้สึกผิดทีหลังและขอโทษต่อพฤติกรรมที่ทำไป บางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมตัวเองถึงเสียการควบคุม ดังนั้น ครั้งถัดไปที่เพื่อนร่วมทีมเข้ามาพูดจาไม่ดีกับคุณ ให้พยายามนึกถึงเรื่องที่เล่ามานี้ ผมไม่ได้บอกให้ยกโทษพฤติกรรมพวกนั้นนะ แต่เพื่อให้คุณจำว่ามันไม่เกี่ยวกับตัวคุณ ทั้งหมดเป็นเรื่องของเขาและการควบคุมตัวเองไม่ได้ของเขาครับ

พอเราเข้าใจมุมนี้ได้จากทางฝั่งเรา เราจะสามารถเว้นระยะห่างทางใจระหว่างตัวเองกับเพื่อนร่วมทีมและตั้งสมาธิให้อยู่กับการแข่งได้ แต่ถ้าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล ให้ลองพยายามตีตัวออกห่าง เดินหนีออกมาเลยถ้ารอบหน้าโดนหาเรื่องอีก

วิธีรับมือกับคนที่ชอบกลั่นแกล้ง โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

แน่นอนว่าวิธีเหล่านี้เป็นแค่การแก้ปัญหาชั่วคราวครับ คนที่บูลลี่จะไม่ค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง เว้นแต่จะมีใครสักคนที่บอกว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบ พวกเขาจะไม่ฝึกควบคุมตัวเองเมื่ออะดรีนาลีนสูบฉีดทั่วร่างกาย เว้นแต่จะมีคนที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของพวกเขากับการได้รับเวลาลงเล่นน้อยลง (หรือการแข่งแพ้)

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเล่าสถานการณ์ให้โค้ชฟังถึงสำคัญมาก ผมรู้ว่าการเปิดโปงปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นหน้าที่ของโค้ชที่จำเป็นต้องคุยกับเพื่อนร่วมทีมคนนั้น ไม่ใช่คุณ

เหตุผลแรกคือ เพราะการพยายามเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมทีมอาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะโดนอีกฝ่ายเล่นงานคืน เหตุผลที่ 2 เพราะโค้ชของคุณมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ หยุดการบูลลี่ที่กำลังเกิดขึ้น และป้องกันการบูลลี่ที่ยังไม่เกิดขึ้นครับ

ผมหวังว่าโค้ชของคุณจะใช้โอกาสนี้แก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นสำหรับคุณและรวมไปถึงทุกคนในทีมครับ เพราะการแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้แค่จะหยุดสมาชิกทีมคนหนึ่งที่บูลลี่คนอื่น แต่จะยังเป็นโอกาสสำหรับโค้ชในการสร้างวัฒนธรรมที่ให้เพื่อนร่วมทีมรู้จักสนับสนุนซึ่งกันและกัน และรู้ว่าเวลามีปัญหาอะไรสามารถระบายให้คนอื่นฟังได้

นอกจากนี้ คุณยังจะได้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมแบบนั้น คุณอาจจะถึงขั้นทำประตูได้มากขึ้น และทีมเริ่มชนะมากขึ้นด้วย วันหนึ่งคนที่เป็นบูลลี่ในทีมอาจจะคิดได้และเข้าใจว่าเขาเป็นคนที่ฉุดรั้งทุกคนมาโดยตลอด แต่ถ้าเขาคิดไม่ได้ล่ะ ถ้าเขาไม่เข้าใจความสำคัญของการปฏิบัติกับคนอื่นด้วยความเคารพล่ะ ถ้าแบบนั้น เขาก็คงจะอยู่ในทีมได้อีกไม่นานครับ


โค้ช Ingebrigtsen

Gjert Ingebrigtsen คือเทรนเนอร์และโค้ชกรีฑาชาวนอร์เวย์ที่เทรนให้กับลูกชายของเขาที่เป็นนักกีฬาระดับแนวหน้า Henrik, Filip และ Jakob ครอบครัวนี้ถือเป็นเจ้าแห่งการวิ่งระยะกลางในทวีปยุโรป เนื่องจากทั้ง 3 คนเคยคว้าเหรียญทองจากระยะ 1,500 เมตรในรายการ European Championships มาแล้ว และสำหรับ Jakob เขายังได้เหรียญทองโอลิมปิก 2020 จากระยะ 1,500 เมตร คว้าเหรียญทองงานแข่งระดับยุโรปสำหรับระยะ 5,000 เมตร และเป็นนักวิ่งอายุน้อยที่สุดที่วิ่งทำเวลาได้ต่ำกว่าเพซ 4 แม้ว่า Gjert จะไม่เคยมีพื้นฐานด้านการวิ่งมาก่อน แต่เขาก็ได้พัฒนาปรัชญาการโค้ชขึ้นเป็นของตัวเองโดยเชื่อว่าการฝึกซ้อมจะต้องเข้มงวดและมีการตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ชื่อของเขาได้รับการจารึกในฐานะโค้ชกีฬาชาวนอร์เวย์แห่งปี 2018

ส่งอีเมลคำถามเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกีฬาและสุขภาพได้ที่ askthecoach@nike.com

ภาพถ่ายโดย Constantin Mirbach

วิธีรับมือกับคนที่ชอบกลั่นแกล้ง โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 14 กันยายน 2564

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

การเลือกความเชี่ยวชาญในด้านกีฬา โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “เราต้องเลือกเล่นกีฬาแค่ชนิดเดียวหรือเปล่า”

วิธีฟื้นตัวจากการบาดเจ็บ โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “ทำไมวิ่งแล้วชอบเจ็บตัวอยู่เรื่อย”

วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart

การโค้ช

ถามโค้ช: “ผมไม่ได้รับเลือกเข้าทีมมัธยมปลาย ผมควรทำยังไงต่อไปดี”

วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โดยโค้ช Courtney Banghart

การโค้ช

ถามโค้ช: “จะทำอย่างไรให้เชื่อได้ว่าตัวเองก็มีดี”

วิธีรับมือกับการถูกกีดกัน โดยโค้ช Courtney Banghart

การโค้ช

ถามโค้ช: “ผมจะรับมืออย่างไรหากผมไม่ได้รับการยอมรับในทีม”