ถามโค้ช: “ต้องทำยังไงถึงจะลดอคติและเปิดใจเข้าหาเพื่อนร่วมทีมได้”
การโค้ช
โค้ช Patrick Sang มีคำแนะนำสำหรับนักว่ายน้ำรุ่นเยาว์ที่พร้อมบวกและไม่เลือกทางสันติ
ถามโค้ช คือคอลัมน์ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาความมุ่งมั่นในกีฬาของคุณ
ถาม:
สวัสดีค่ะโค้ช
หนูอยู่ทีมว่ายน้ำหญิงชั้นมัธยมปลาย ทีมเราเก่งมาก ชนะการแข่งขันประเภททีมมาแล้วหลายรายการ แต่เราก็แข่งกันเองในการแข่งขันประเภทเดี่ยวด้วย เพื่อนในทีมเป็นกลุ่มเพื่อนที่หนูสนิทด้วยมากๆ แต่เมื่อไหร่ที่เราลงสระ ความรู้สึกของหนูจะเหลือแค่ต้องการเอาชนะทุกคน ความหมกมุ่นว่าจะต้องเก่งที่สุดให้ได้มันหนักถึงขั้นที่เริ่มคิดถึงตัวเองก่อนทีม หนูจะชอบเล่นสงครามประสาทเล็กๆ น้อยๆ เพื่อยั่วอารมณ์เพื่อน และยังทำตัวลับๆ ล่อๆ ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการว่ายน้ำ เช่น กินอะไร ฝึกพิเศษเมื่อไหร่ นอนไปกี่ชั่วโมง ก็รู้นะว่าทำแบบนี้เรียกว่าเห็นแก่ตัว แล้วก็รู้สึกไม่โอเคกับตัวเองด้วย พอมาฟุ้งซ่านแบบนี้ก็เริ่มทำให้ฟอร์มตกไปอีก แบบนี้แล้วหนูจะเป็นเพื่อนที่ดีของทีมและเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในทีมได้ไหมคะ
Stroke Often Leading Others (ไปก่อนไม่รอคนรั้งท้าย)
นักว่ายน้ำวัย 16 ปี
ตอบ:
SOLO, เธอน่าจะเคยได้ยินนะ คำว่า “ทีมต้องมาก่อน” ตอนนี้ทุกคนในทีมอาจจะคิดแบบนั้นกัน แต่ฉันขอบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เอาเลยถ้าเธออยากซ้อมเพื่อเอาไปแข่งให้ชนะเพื่อน แล้วฉันจะบอกด้วยว่าการซ้อมกับเพื่อนเป็นกลุ่มเนี่ย ทำให้เราได้ทักษะกับจุดแข็งมาหลายอย่างเลย เจ้าทักษะกับจุดแข็งพวกนี้แหละที่จะช่วยเธอได้เมื่อเกิดความคิดที่ว่า “ต้องเอาชนะทุกคน”
…เธออาจจะคิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าทุกคนหรอก แค่เป็นตัวเองที่ดีกว่าเมื่อวานก็พอแล้ว
ถ้าเธอมีโอกาสไปดูแคมป์ฝึกวิ่งของฉันสักที่ ก็จะเห็นภาพนักกีฬาที่กำลังรวมกลุ่มกันฝึกซ้อม ถึงจะฝึกกันเป็นกลุ่มแต่เราก็รู้เสมอว่ากลุ่มเกิดจากคนแต่ละคนที่มารวมตัวกัน เอาเข้าจริง สิ่งที่ฉันทำเป็นอย่างแรกตอนรับนักกีฬาคนใหม่เข้ามา ก็คือการพยายามทำความรู้จักและเข้าใจตัวตนของนักกีฬาคนนั้นด้วยซ้ำ ทั้งจุดแข็งในฐานะนักกีฬา ระดับการศึกษา และแรงผลักดันที่ทำให้อยากแข่งขัน และเพราะทำแบบนี้ ฉันเลยสามารถปรับสไตล์การโค้ชให้เข้ากับนิสัยของแต่ละคนได้ ซึ่งทำให้นักวิ่งของฉันสามารถตั้งเป้าหมายและทำเป้าหมายนั้นให้ลุล่วงได้
ฉันพบว่านักกีฬาจะมีพัฒนาการสม่ำเสมอมากกว่าเมื่อแต่ละคนมีเป้าหมายเป็นของตัวเองในเวลาที่มารวมกลุ่มซ้อม ยกตัวอย่างการวิ่งก็ได้ ถ้านักวิ่งคนไหนอยากเพิ่มความอดทนและสมาธิ การซ้อมกับเพื่อนนักวิ่ง 4-5 คนจะช่วยตรงนี้ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่ทุกคนมาอยู่รวมกันโดยไม่มีใครพยายามเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ทุกคนจะรู้จักออมแรงเก็บไว้เพื่อใช้แข่งขันในระยะยาว และสามารถดึงออกมาใช้ได้เมื่อถึงเวลา
จากที่อ่านดู เหมือนว่าเธออยากเก่งกว่าทุกคนรอบตัวทั้งช่วงฝึกซ้อมและช่วงแข่ง แต่การคิดแบบนี้ไม่ได้มีแค่ข้อดีนะไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน
สมมติว่าฉันมีนักวิ่งอยู่คนหนึ่ง นักวิ่งคนนี้สามารถวิ่งระยะ 5,000 เมตรโดยทำเวลาได้ 13:30 แต่ในการลงแข่งครั้งนั้นมีนักวิ่งอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถทำเวลาได้น้อยกว่า 13 นาที คำถามคือนักวิ่งคนนั้นต้องมานั่งกลุ้มเพราะกลุ่มนักวิ่ง 20 เปอร์เซ็นต์นี้หรือเปล่า? ไม่เลย สิ่งที่ควรทำคือการตั้งเป้าหมายบนหลักความเป็นจริงและพยายามทำเวลาให้ดีขึ้นเป็น 13:20 ถ้ามัวแต่ไปมองเป้าหมายที่คนอื่นทำได้แล้วเอามาใช้กับตัวเอง สุดท้ายเธออาจจะฝืนตัวเองเกินไปในเวลาที่เร่งรีบเกินไป ซึ่งเป็นจุดที่เข้าขั้นอันตรายแล้วเพราะเธออาจจะบาดเจ็บ หมดกำลังใจ หรือแม้แต่ก่อกำแพงขึ้นมาปิดกั้นจิตใจได้
ตรงกันข้าม ถ้าเธอสนใจและมุ่งมั่นเฉพาะสิ่งที่ตัวเองทำได้ แรงกดดันในตัวก็จะน้อยลง แม้จะอยู่ในการแข่งที่แรงกดดันสูง เธอก็ยังบอกตัวเองได้ว่า “นี่แหละคือโอกาสพิสูจน์ความพยายาม โอกาสในการพัฒนาตัวเอง” แล้วไม่นาน เธออาจจะคิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าทุกคนหรอก แค่เป็นตัวเองที่ดีกว่าเมื่อวานก็พอแล้ว การปล่อยวางเล็กๆ น้อยๆ นี้นี่แหละที่ทำให้เธอมีความสุขกับความสำเร็จของเพื่อนร่วมทีมไม่ต่างจากความสำเร็จของตัวเอง
จริงๆ แล้วฉันเริ่มเป็นโค้ชตอนยังเป็นนักวิ่งอาชีพอยู่นะ บางทีก็โค้ชให้เพื่อนร่วมทีมที่พยายามแย่งกันเป็นที่หนึ่งนี่แหละ แล้วสุดท้าย Bernard Barmasai หนึ่งในคนที่ฉันโค้ชให้ก็ได้ทำสถิติโลกจากการวิ่งประเภทข้ามสิ่งกีดขวางในปี 1997 และในงานเดียวกันนั้น ฉันก็ทำ PR ใหม่ให้ตัวเองได้เหมือนกัน
ถามว่ารู้สึกอิจฉาหรือเปล่าที่ Bernard ได้เหรียญทอง ไม่เลยนะ ฉันคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองคือคนที่ช่วยจน Bernard ได้ชัยชนะมา ซึ่งก็ทำให้ฉันร่วมยินดีไปด้วย แถมยังภูมิใจในตัวเองมากๆ อีกที่ทำ PR ใหม่ได้ เพราะรู้ว่าตัวเองพยายามเต็มที่แล้ว ขอสัญญาเลยว่าถ้าเธอเชื่อในศักยภาพของตัวเองและทุ่มเทพยายามให้เต็มที่ ก็จะรู้สึกอิ่มเอมใจไม่ต่างจากฉัน ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ได้แปลว่าเธอต้องทำตัวเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อคนอื่นตลอดเวลานะ บางครั้ง “การเห็นแก่ตัว” บ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยให้เก่งขึ้นได้เหมือนกัน ลองปรึกษาโค้ชดู ถ้าเกิดรู้สึกว่าตัวเองมีเวลาซ้อมแข่งคนเดียวไม่พอ
ฉันก็เคยเจอสถานการณ์คล้ายๆ กันตอนเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยแล้วได้แข่งในทีมตัวแทนครอสคันทรี่ การซ้อมแบบเป็นกลุ่มในตอนเช้าของพวกเราเสร็จพอดีกับเวลาเริ่มคาบแรกของวัน ซึ่งเป็นอะไรที่หนักเกินไป เราเลยไปคุยกับโค้ชในฐานะทีมว่าอยากแยกกันซ้อม ตอนแรกโค้ชทำท่าลังเลใจ แต่เราให้สัญญาว่าพอถึงเวลาทุกคนจะแสดงฝีมือออกมาได้แน่นอน และด้วยความที่ต่างคนต่างพยายามนี้เองที่ทำให้เรา “เอาชนะทุกคน” ในปีนั้นได้ เราเอาชนะได้เพราะเราคือทีมเดียวกัน
เห็นหรือยังว่าการซ้อมทีมช่วยให้ตัวเธอเก่งขึ้นได้ ส่วนการซ้อมแยกก็ช่วยให้เธอเก่งขึ้นได้ในฐานะทีม และไม่ว่าเธอจะเลือกมองเป้าหมายอะไรในระยะยาว ฉันอยากให้เธอมองตัวเองเป็นคู่แข่งอันดับ 1 แล้วถ้าเพื่อนร่วมทีมชนะเหมือนเราล่ะ? นั่นก็แปลว่าเราจะมีเรื่องให้ดีใจเพิ่มขึ้นไง
โค้ช Sang
Patrick Sang เป็นโค้ชนักวิ่งชาวเคนย่าและนักวิ่งเกษียณ สมัยที่เป็นนักวิ่งประจำทีมชาติเคนย่า เขาคว้าเหรียญเงินจากงาน World Athletics Championships ปี 1991, Olympics ปี 1992 และ World Athletics Championships ปี 1993 ในการแข่งขันวิ่งวิบาก 3,000 เมตร ในด้านวิทยาลัย Sang จบจาก University of Texas ที่ออสติน และทำสถิติประจำมหาวิทยาลัยได้ในการแข่งขันวิ่งวิบาก 3,000 เมตร
ส่งอีเมลคำถามเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกีฬาและสุขภาพได้ที่ askthecoach@nike.com
ภาพถ่ายโดย Kyle Weeks
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ
รับประโยชน์ที่มากขึ้น
เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ