ตัวต่อตัว: Jordin Canada x Jrue Holiday

นักกีฬา*

เหล่านักบาสเก็ตบอลชาวลอสแอนเจลิสสะท้อนเสียงการอยู่ในพื้นที่ทดลองและการเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม

อัพเดทล่าสุด: 16 มิถุนายน 2564
Jordin Canada กับ Jrue Holiday ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในขณะที่อาศัยอยู่ใน Bubble

“ตัวต่อตัว” คือซีรีส์ที่ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างนักกีฬา Nike ชั้นนำแบบสดๆ ไม่มีสคริปต์

ท่ามกลางการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโคโรนาไวรัส ทั้ง NBA และ WNBA ให้ผู้เล่นเดินทางมาสู่รัฐฟลอริดาเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2020 เพื่อใช้ชีวิตและเล่นบาสเก็ตบอลในพื้นที่กักตัวที่เรียกว่า “NBA Bubble” ทำให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้แบบค่อนข้างปลอดภัยจากโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างหนัก ในช่วงที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาอยู่ใน NBA Bubble นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ซึ่งเรียกร้องเรื่องสีผิวอย่างเข้มข้นและมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมอย่างร้อนแรงในสหรัฐอเมริกา Massaër Ndiaye นักเขียนและบรรณาธิการได้พูดคุยกับผู้เล่นชาวลอสแอนเจลิส 2 คน Jrue Holiday สังกัดทีม Milwaukee Bucks นักบาสเก็ตบอลรุ่นเก๋าที่เล่นอาชีพมา 11 ปีแล้วและได้รับการยกย่องกันว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวรับที่เก่งที่สุดในโลก และ Jordin Canada สังกัดทีม Seattle Storm หนึ่งในดาวรุ่งที่พุ่งแรงที่สุดในเวที WNBA เธอเพิ่งคว้าแหวนแชมป์วงที่ 2 ไปหมาดๆ ในระยะเวลา 3 ซีซั่นสุดโหดที่ลงเล่นมา ทั้งคู่มองย้อนกลับไปถึงการใช้ชีวิตในแบบที่คาดไม่ถึงใน NBA Bubble เมื่อปีที่ผ่านมา การตื่นรู้ทางการเมืองของแต่ละคน และการมองโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการได้มาใช้ชีวิตไกลบ้าน

คุณทั้งคู่เติบโตในแอลเอ ตอนที่เกิดการประท้วงช่วงที่ผ่านมาได้อยู่ที่นั่นหรือเปล่า แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างเกี่ยวกับการรับมือของเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว

Jrue: ผมภูมิใจในเมืองและผู้คนที่ต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ผู้คนที่ต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมของเรา เพื่อความเป็นคนผิวดำ ผมไม่ได้ไปร่วมชุมนุมด้วยเพราะตอนนั้นภรรยากำลังตั้งครรภ์อยู่ แถมยังเป็นช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วย ผมจึงเลือกไม่ถูกว่าจะออกไปหรืออยู่ที่บ้านดี จริงๆ ผมอยากออกไปนะ ไปแสดงพลัง และไปมีส่วนร่วมตรงนั้น แค่ได้เห็นผู้คนยืนหยัดและมีพลังกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สำหรับผมก็รู้สึกว่าเป็นเกียรติแล้ว ซึ่งผมอยากจะออกไปร่วมประท้วงด้วยจริงๆ ครับ

Jordin: จริงๆ แล้ว ฉันไปชุมนุมมารอบนึงแถวย่านฮอลลีวูด ตอนที่ไปนั่นเป็นช่วงที่แบบว่าแย่สุดๆ ช่วงหนึ่งเลย เพราะในแอลเอก็เริ่มระบาดหนักขึ้น มันลำบากจริงๆ ค่ะ เพราะฉันก็อยากจะรู้สึกปลอดภัย อยากจะระมัดระวังด้วย แต่อีกใจนึงก็รู้สึกภาคภูมิใจจริงๆ ที่ได้เห็นทุกคนออกมาแสดงพลังสนับสนุนไม่เพียงแต่กับคนผิวดำ แต่กับทั้งประเทศเลย ทุกวันนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ การได้เห็นทุกคนมาร่วมกันประท้วงเรียกร้องในประเด็นที่มีความสำคัญจริงๆ ในแง่ของสิทธิมนุษยชน ในแง่ของคนผิวดำ เป็นอะไรที่พิเศษมากๆ จริงๆ ค่ะที่ได้เห็น หลายคนออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวก็ดีใจที่ได้ออกมาสัมผัสรสชาติการประท้วงครั้งแรกในชีวิต เป็นอะไรที่พิเศษจริงๆ

“ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยสนใจการเมืองหรือตื่นตัวในประเด็นทางสังคมเลย ฉันไม่ได้ส่งเสียงออกมาในหลายๆ เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงนั้น แต่หลังจากผ่านปีนี้ไป ฉันก็รู้สึกว่าฉันมีหน้าที่รับผิดชอบในการลงมือทำอะไรสักอย่างในเรื่องนี้ และไม่นิ่งเฉย ไม่ปิดปาก ไม่นิ่งเงียบค่ะ”

Jordin Canada

ในปีนี้ คุณทั้ง 2 คนได้เข้ามาอยู่ใน NBA Bubble ซึ่งเป็นการทดลองครั้งใหญ่ในแง่ที่ว่าจะเล่นกีฬาอย่างไรให้ปลอดภัยในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก พวกคุณรู้ข่าวเรื่องนี้ครั้งแรกอย่างไร แล้วความคิดแรกที่แวบขึ้นมาคืออะไร

Jrue: ตอนแรกผมสงสัยจริงๆ นะว่าจะได้ผลเหรอ เพราะหลายๆ ครั้งเราจะได้ยินคนคาดการณ์กันไปว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แน่ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง การที่ได้ไปอยู่ใน NBA Bubble ได้จริงๆ อารมณ์เหมือนกักตัวด้วยมาตรการเด็ดขาด ถือเป็นความสำเร็จครับ เพราะตอนอยู่ที่นั่นผมรู้สึกปลอดภัย เราได้รับการตรวจทุกวัน มีกิจกรรมให้ทำ ประมาณนี้ครับ แต่โดยภาพรวมก็คือเป็นการทดลองนั่นแหละที่ต้องเราต้องทำและต้องเชื่อมั่นว่ามันจะได้ผล ซึ่งบางครั้งก็ลำบากใจอยู่นะครับที่เราควบคุมอะไรเองไม่ได้เลย ต้องไปขึ้นอยู่กับคนอื่นอย่างเดียว แต่จากประสบการณ์ผมเองก็ต้องบอกเลยว่า NBA ทำออกมาได้เยี่ยมเลยครับ

Jordin: เรากังวลกันมากนะคะในประเด็นความปลอดภัย เรื่องระเบียบ และแนวทางปฏิบัติ ไปจนถึงว่ามันจะออกมาหน้าตาแบบไหน แม้จะไม่รู้ว่าเราต้องคาดหวังอะไรก็ตาม

Jordin Canada กับ Jrue Holiday ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในขณะที่อาศัยอยู่ใน Bubble

คุณปรับตัวอย่างไรในการปลีกออกจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

Jrue: ตอนแรกที่มาถึงเนี่ย คือผมเล่นในลีกมา 11 ปีแล้ว ก็เลยทำอะไรได้อย่างอิสระมาตั้ง 11 ปี แล้วพอมาอยู่ใน NBA Bubble นี้ได้สัก 2 เดือน ก็เลยรู้สึกแปลกที่ถูกจำกัดพื้นที่ครับ แต่เราทุกคนก็ล้วนอยากจะไปให้ถึงเป้าหมายสุดท้ายเหมือนกัน เราไม่อยากทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น จึงทำตัวให้ชินกับข้อกำหนดและมีวินัย ช่วงแรกผมคิดว่ามันจะแย่มาก แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แย่อะไรเลย

Jordin: เป็นสิ่งที่เราต้องทำตัวให้ชินค่ะ เหมือนกับไปต่างประเทศแล้วต้องแยกกักตัวช่วงสัปดาห์แรกๆ เราก็แค่ต้องอยู่ในห้อง ไม่ไปสุงสิงกับเพื่อนร่วมทีม ยกเว้นตอนซ้อมหรือตอนประชุมทีม สุงสิงกับทีมอื่นก็ไม่ได้ค่ะ แต่พออะไรๆ เริ่มเปลี่ยนไป สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ในที่สุดก็มีการผ่อนคลายกฎลงบ้าง เลยไปพบปะกับเพื่อนร่วมทีมและทีมอื่นได้ค่ะ

ส่วนใหญ่แล้วเราอยู่แต่ในห้องของตัวเอง ทำนั่นทำนี่ไปเพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่ว่างๆ ค่ะ อย่างที่คุณพูดมาก็คือเราถูกฝึกมาให้อยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ แต่มันก็ยากจริงๆ นะ บางทีก็เหนื่อยล้าทางจิตใจมาก เพราะต้องอยู่ตัวคนเดียวใน NBA Bubble ไม่มีใครแวะมาหามาเยี่ยมเลย แต่สิ่งนี้ก็เป็นการเตรียมจิตใจฉันให้แข็งแกร่งขึ้น ให้คงความมีสมาธิและทัศนคติเอาไว้ ให้ตระหนักเสมอว่ามาอยู่ที่นี่เพื่อเล่นบาส นี่จึงเป็นเรื่องของบาสเก็ตบอลล้วนๆ เลย แต่ว่าฉันดู Netflix ทั้งวันเลยนะคะ ดูภาพยนตร์ต่างๆ คือสิ่งที่ทำได้ก็มีแค่เท่านี้ค่ะ

มีอะไรพิเศษไหมในเรื่องของระดับการแข่งขันและความเข้มข้นของการเล่นใน NBA Bubble

Jrue: ยังขับเคี่ยวกันเข้มข้นครับ ผมคิดว่าทุกทีมต่างรู้ดีว่าไปที่นั่นกันเพื่อเป้าหมายเดียวคือการคว้าชัย สิ่งที่ต่างไปก็คือเมื่อเล่นในบ้าน ก็จะมีกองเชียร์เจ้าถิ่นที่มักจะช่วยเชียร์เวลาที่เราต้องการแรงกระตุ้น หรือแสดงพลังให้ทีมคู่แข่งสัมผัสได้ถึงเสียงดังกระหึ่ม ถึงการข่มขวัญ หรืออื่นๆ สนามแข่งที่เงียบเชียบนี่แหละคือสิ่งที่แตกต่าง ผมจำได้เลยว่าในเกมแรกที่เราเจอกับ Jazz เรานำมากสุด 20 แต้ม พอช่วงท้ายเกม เหลือเวลาอีก 2 นาที ดันกลายมาเป็นเกมชิง 2 แต้มกัน แต่ความรู้สึกคือไม่ใช่เลยครับ สังเกตได้เลยจากตรงที่ว่าไม่มีผู้ชม ไม่มีแรงกระตุ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมต้องปรับตัวจริงๆ เพราะอย่างตอนที่เล่นต่อหน้าคนดู แม้ว่าจะเล่นเป็นทีมเยือน ก็เสมือนว่าเป็นทีมเราปะทะกับทั้งโลก แล้วอย่างนัดที่ว่ามานั้นเราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย การที่ไม่มีผู้ชมในสนามทำผมเสียศูนย์อยู่บ้างครับในช่วงแรก

Jordin: เห็นด้วยเลยค่ะ การไม่มีผู้ชมในสนามนั้นทำให้บรรยากาศต่างไป เพราะเกมเงียบมาก ฉันจำได้เลยว่าเกมแรกเราเจอกับ New York จังหวะยิงลูกฟรีโทรว์คือเสียงเงียบสงัดมาก ปกติเราจะคุ้นชินกันกับการได้แรงกระตุ้น ความตื่นเต้นต้องมาจากทีม แต่ทุกเกมที่เราลงเล่น แรงกระตุ้นนั้นมาจากพวกเรากันเอง ไม่ได้มาจากที่อื่นเลย ส่วนระดับการแข่งขันก็สูสีกันสุดๆ เพราะไม่มีใครได้เปรียบจากการเป็นทีมเจ้าบ้าน ทุกคนลงสนามเล่นได้อย่างไม่เกร็ง เหมือนเล่นในยิมสาธารณะเลยค่ะ แต่ก็สนุกมากนะคะ สูสีกันมาก ทีมแพ้ชนะกันชนิดหักปากกาเซียนเพราะว่าไม่มีกองเชียร์เจ้าบ้านคอยกดดัน สนุกมากจริงๆ ค่ะ

Jordin Canada กับ Jrue Holiday ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในขณะที่อาศัยอยู่ใน Bubble

“คุณอยากจะทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้คนผิวดำมีอนาคตที่สดใสขึ้นกว่านี้มาก”

Jordin Canada

ตอนที่ทราบข่าวว่าทั้ง 2 ลีกจะแข่งกันต่อใน NBA Bubble บาสเก็ตบอลก็ได้กลายมาเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม บรรดาผู้เล่นพูดคุยกันเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แล้วคุณตัดสินใจกันอย่างไรว่าจะคุกเข่าหรือไม่ หรือจะประดับสิ่งใดบนเสื้อแข่ง

Jordin: ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าเราจะได้แข่งซีซั่นต่อหรือไม่ เรารู้ดีว่าเราต้องมุ่งมั่นในแคมเปญ “Say Her Name” ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการจะคุกเข่าหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่แต่ละทีมจะตกลงกัน ฉันรู้ว่าสำหรับทีม [Seattle Storm] พวกเราไม่ต้องการจะอยู่ในคอร์ทเมื่อเพลงชาติกำลังดังอยู่ ดังนั้นทุกครั้งที่เปิดเพลงชาติ เราจะเดินกลับเข้าห้องแต่งตัว แล้วค่อยเดินกลับออกมาก่อนที่จะทิปออฟเริ่มเกม ตลอดทั้งซีซั่นเราได้พูดคุยกันว่าจะช่วยกันเป็นกระบอกเสียงอย่างไรในการเชิญชวนให้คนออกไปเลือกตั้ง อีกทั้งเรายังอยากให้ผู้คนตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศนี้ พร้อมไปกับต่อสู้เพื่อผู้หญิงผิวดำที่ต้องตกเป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

Jrue: การพูดคุยกับทีมต่างๆ และบรรดาผู้เล่นเป็นเรื่องสำคัญ เราคุกเข่าเพราะเรารู้สึกว่านี่แหละคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 ทีมตัดสินใจที่จะทำเช่นนั้น เราต้องการประสานเป็นหนึ่งเดียวในทุกสิ่งที่เราทำ รวมไปถึงแม้แต่คนที่ยืนและรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยากจะคุกเข่า เราก็ยังคงจะคอยอยู่เคียงข้างพวกเขาเช่นกัน ไม่ได้โกรธหรือตั้งแง่อะไรกับพวกเขา เพราะนี่เป็นเรื่องของการรวมใจเป็นหนึ่ง และในสถานการณ์เช่นนั้น เหตุผลที่ผมกลับมาลงเล่นก็เป็นเพราะเรื่องที่ใหญ่กว่าบาสเก็ตบอล เป็นเรื่องของทุกคนที่เราเห็นเขาตกไปเป็นเหยื่อของเพื่อนมนุษย์อีกคน แค่การที่ได้ออกไปส่งเสียง ทำให้เรื่องนี้ยังคงเป็นกระแสพูดคุยอยู่ ให้ผู้คนได้รับรู้ว่าวัฒนธรรมของเราได้ให้อะไรไว้กับโลกใบนี้บ้าง และพวกเราพร้อมที่จะสานต่อสิ่งนั้นครับ

คุณ Jrue แม่ของคุณ [Toya Holiday, Arizona State Sun Devils] เคยเป็นดาวเด่นแห่งวงการบาสเก็ตบอล ส่วนภรรยาของคุณ [Lauren Holiday, ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ] ก็เป็นตัวเต็งที่จะได้เข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศในอนาคตของวงการฟุตบอล ทั้งคู่ได้สอนสิ่งใดให้กับคุณซึ่งคุณได้นำไปใช้ใน NBA Bubble บ้าง

Jrue: ต้องบอกเลยครับว่าทั้งคู่สอนให้ผมเข้มแข็ง เหมือนอย่างที่คุณเล่าไปเมื่อสักครู่ ประสบการณ์ของพวกเราใน NBA Bubble นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแม่ของผมซึ่งเคยเล่นอยู่ในลีกผู้หญิงลีกแรกที่ได้ยุติไป สำหรับแม่ ต้องเลือกว่าจะไปเล่นต่างประเทศ หรือไปสมัครเป็นครู ซึ่งแม่ก็เลือกอย่างหลังไป แม่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญและต่อสู้เพื่อให้ได้มา ภรรยาผมก็เช่นกันครับ เพราะในวงการฟุตบอล ผู้หญิงได้รับค่าเหนื่อยน้อยกว่าผู้ชาย

และต้องเล่าอีกครั้งว่า ภรรยาผมไม่ใช่ผู้แพ้เลยนะครับ เว้นแค่ปี 2011 เท่านั้นที่ทีมของเธอไปแพ้นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง ตัวเธอเองคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้ 2 สมัย แถมยังเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงปี 2015 ด้วย เธอคือนักกีฬายอดเยี่ยมตลอดกาล ดังนั้นเมื่อผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรนั้นเป็นอะไรที่เจ็บปวด นี่แค่ในครอบครัวผมนะ ซึ่งรวมถึงน้องสาวผมด้วยที่ก็เคยอยู่ทีมเดียวกับคุณ และสำหรับใครที่บอกว่าผู้หญิงมีพรสวรรค์หรือระดับทักษะที่แตกต่างไปจากผู้ชาย บอกเลยว่าคนที่พูดแบบนี้ไม่ได้ดูกีฬาจริงๆ หรอกครับ ว่ากันง่ายๆ เลยก็คือผู้หญิงทุ่มเทหนักกว่าผู้ชายอีก แถมทักษะก็อยู่ในระดับท็อป พวกคุณออกกำลังกายกันหนักกว่าผู้ชายแทบทุกคนที่ผมรู้จัก โดยที่ไม่มีมาลิ้นห้อย ไม่มีมางอแงเลย แถมสไตล์การเล่นก็โหดด้วย นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมได้จากการดูภรรยาและเรียนรู้จากแม่ของผมเอง ทั้งเข้มแข็ง ทั้งทรหด ทั้งคู่ต้องต่อสู้อยู่เสมอ ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ

Jordin Canada กับ Jrue Holiday ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในขณะที่อาศัยอยู่ใน Bubble

“ผมรู้ว่าการประท้วงก็มีส่วนช่วย แต่ผมอยากจะทำให้มากขึ้น”

Jrue Holiday

ก่อนที่จะถึงปีนี้ คุณสนใจการเมืองหรือตื่นตัวในประเด็นทางสังคมมาก่อนไหม

Jordin: ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยสนใจการเมืองหรือตื่นตัวในประเด็นทางสังคมเลย ฉันไม่ได้ส่งเสียงออกมาในหลายๆ เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในช่วงนั้น แต่หลังจากผ่านปีนี้ไป ฉันก็รู้สึกว่าฉันมีหน้าที่รับผิดชอบในการลงมือทำอะไรสักอย่างในเรื่องนี้ และไม่นิ่งเฉย ไม่ปิดปาก ไม่นิ่งเงียบค่ะ

Jrue: ผมเคยพูดไปหลายรอบแล้วครับ แต่ว่าเราจะชินกับการถูกเลือกปฏิบัติ และจะรู้สึกว่าเวลาที่เราไปบอกใคร เขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นเด็กเลี้ยงแกะ หรือคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไม่ได้มีความสำคัญอะไร การเป็นคนผิวดำนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ล้วนมีแต่ความน่ากลัว จะพูดคุยกับตำรวจ เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หรืออื่นๆ เราเลยสร้างเกราะป้องกันขึ้นมา แต่พอมาถึงจุดนี้แล้วมันก็เป็นความรับผิดชอบของผมเช่นกันที่จะต้องออกมาส่งเสียง และถ้าหากเมื่อก่อนผมรู้สึกอึดอัดที่จะทำเช่นนี้ ตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะมามัวแต่อึดอัดแล้ว เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับแค่ผมคนเดียว แต่เพื่อใครต่อใครอีกหลายคนด้วย เพื่อผู้คนที่เคยเรียกร้องกันมาในอดีต เพื่อลูกสาววัย 4 ขวบและลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลกของผม เพื่อผู้คนอื่นๆ มากมาย

คุณ Jrue คุณได้มอบเงินค่าเหนื่อยที่ได้รับในช่วงที่อยู่ใน NBA Bubble เพื่อช่วยเป็นเงินทุนสำหรับการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม โดยมุ่งไปที่การสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในแอลเอ อินเดียแนโพลิส และนิวออร์ลีนส์ มีสิ่งใดมากระตุ้นให้ตัดสินใจเช่นนั้น

Jrue: ต้องบอกตามตรงว่า ผมต้องใช้ความพยายามมากเลยนะครับในการเข้าไปอยู่ใน NBA Bubble เพราะอะไรต่อมิอะไรทางสังคมในโลกของเรานั้นกำลังพังทลายลงและเหมือนว่าผมยังลงมือทำไม่พอ แล้วตอนนั้นก็ไม่รู้ด้วยว่าต้องทำอะไร ไม่รู้เลยว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง ผมรู้ว่าการประท้วงก็มีส่วนช่วย แต่ผมอยากจะทำให้มากขึ้น ผมนั่งอยู่บนเตียงกับภรรยา คิดทบทวนไปมาถึงสิ่งที่เราน่าจะทำได้ ภรรยาผมเสนอให้บริจาคเงินค่าเหนื่อยที่เหลือทั้งหมดของผมให้กับวัฒนธรรมของเรา ให้กับชุมชนของเรา พอเธอพูดจบปุ๊บผมก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันที แล้วมันเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอกเลยครับ ไอเดียนี้มันลงตัวมากเลยนะ เพราะอย่างที่เราพูดๆ กันอยู่ ก็คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นปัญหาใหญ่เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ คนรวยกับคนจน ผมได้รับพระเมตตาจากพระเจ้ามากพอที่ได้ลงเล่นในวงการยัดห่วงนี้มาอย่างยาวนาน พอจะเก็บเงินได้อยู่บ้าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าผมจะเอาเงินไปใช้คนเดียวนะ เพราะก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ผมรู้สึกว่าถ้าเรื่องเงินเป็นปัจจัยเนี่ยผมช่วยได้ และถ้าไม่ได้ตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ผมก็คงไม่ไป NBA Bubble แน่ๆ ครับ

คือต้องตัดสินใจเลือกสักทางหนึ่งใช่ไหม

Jrue: ผมรู้สึกว่าจะต้องมีเหตุผลที่ทำให้ผมจากภรรยาที่ตั้งครรภ์ 5 เดือนเพื่อไปใช้ชีวิตใน NBA Bubble เป็นเวลา 3 เดือน ผมรู้สึกเหมือนกำลังทิ้งทั้งแม่และน้องไว้บนเกาะ โลกของเรากำลังพังทลายลง และผมก็ต้องการสิ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่สร้างแรงจูงใจให้กับผม แต่ยังต้องช่วยผู้คนที่เป็นคนของเราซึ่งมีความต้องการจริงๆ ในตอนนี้ด้วยครับ

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวผิวดำต้องเผชิญแรงกดดันอย่างมากเมื่อออกมาส่งเสียงพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาผิวดำ คุณคิดว่าคุณมีหน้าที่ต้องออกมาพูดในประเด็นการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมหรือไม่

Jrue: บางอย่างก็เป็นเพียงการบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้คนอื่นฟัง การสามารถที่จะรับรู้ถึงประสบการณ์นั้นได้ เป็นอะไรที่หนักหนา ผมรู้สึกว่ามันมีส่วนอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดียปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอยุติธรรมในสังคมหรือปัญหาสุขภาพจิต บางทีเราไม่รู้หรอกว่านักบาส NBA หรือ WNBA ต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะนักบาสต่างก็จดจ่ออยู่กับการแข่งขันในซีซั่น แต่พวกเราก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ พวกเราก็มีอะไรให้ต้องดิ้นรนต่อสู้ไม่ต่างกัน ผมรู้สึกว่าการออกมาส่งเสียงพูดและสามารถที่จะเข้าถึงผู้คนได้ แล้วตระหนักได้ว่าพวกเราต่างก็มีปัญหาเดียวกันกับที่คนอื่นๆ มี สิ่งนี้แหละครับที่ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น

Jordin: ฉันเห็นว่าคนเจเนอเรชันเดียวกันกับฉันตื่นตัวมากกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและต้องการสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมขึ้น และตระหนักว่าตัวฉันเองในฐานะนักกีฬาก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างกัน ฉันเองก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความรู้สึก เผชิญกับอะไรหลายอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อได้เห็นว่ามีผู้คนคอยสนับสนุนเราและนักกีฬาคนอื่นๆ เช่นกันนั้นเป็นอะไรที่มหัศจรรย์จริงๆ เพราะประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่พวกเรา แต่เกี่ยวข้องกับอนาคต คุณอยากจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้คนผิวดำมีอนาคตที่สดใสขึ้นกว่านี้มาก

คุณคิดว่าวงการบาสเก็ตบอลจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เพื่อให้สะท้อนถึงจุดยืนทางการเมืองหรือความมุ่งมั่นที่ผู้เล่นมีต่อความยุติธรรมทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น

Jrue: ผมรู้ว่าสำหรับ NBA และ WNBA นั้น ให้ผู้เล่นควบคุมทิศทางของลีกได้มากขึ้นตามที่ตนต้องการ นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้มีการสานต่อ ผมคิดว่าเราจะเดินหน้าออกนโยบายในลักษณะเดียวกันนี้ออกมา ผมรู้ว่าทุกวันนี้มันกลายเป็นลีกของผู้เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่านี่เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในการที่ลีกให้การสนับสนุนเมื่อเราออกมาส่งเสียง

Jordin: ฉันคิดว่ามันคือการใช้เสียงของเราต่อไปและพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะหาวิธีให้ทรัพยากรกับคนที่ไม่มีทรัพยากรตามปกติที่ควรจะเป็น เรากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเราและต้องการลีกที่พร้อมจะสนับสนุนพวกเรา

เรียบเรียงโดย Massaër Ndiaye
ภาพประกอบโดย Richard Chance

รายงานเมื่อ: ตุลาคม 2020

เผยแพร่ครั้งแรก: 16 มิถุนายน 2564

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ตัวต่อตัว: Napheesa Collier x Sylvia Fowles

นักกีฬา*

ตัวต่อตัว: Napheesa Collier x Sylvia Fowles

การพัฒนาความคล่องแคล่วสามารถป้องกันการบาดเจ็บและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

การโค้ช

ทักษะที่ต้องมีเพื่อคงความหนุ่มสาวตลอดชีวิต

ท่ามกลางมิตรภาพที่แน่นแฟ้น: บ้านก็คือคอร์ท

ชุมชน

คอร์ทคือบ้านของเรา

บทสัมภาษณ์ Madison Keys กับ Sloane Stephens

นักกีฬา*

ตัวต่อตัว: Sloane Stephens x Madison Keys

Renee Montgomery: การเคลื่อนที่เปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหว

นักกีฬา*

Renee Montgomery: จากการลงสนามสู่การลงถนน