ถามโค้ช: “จะทำอย่างไรให้เชื่อได้ว่าตัวเองก็มีดี”

การโค้ช

นักบาสวัยเยาว์โชว์ฟอร์มดีอย่างต่อเนื่อง แต่กลับรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเก่งไม่จริง โชคดีที่ Courtney Banghart แห่ง UNC พร้อมจะช่วยเหลือ

อัพเดทล่าสุด: 25 ตุลาคม 2564
ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โดยโค้ช Courtney Banghart

ถามโค้ช คือคอลัมน์ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาความมุ่งมั่นในกีฬาของคุณ

ถาม:

สวัสดีค่ะโค้ช

ตอนที่ยังเด็กกว่านี้ ฉันเป็นตัวสำรองที่นั่งเฉยๆ เพื่อรอลงเล่นมากกว่าได้ลงสนามอีกค่ะ แต่ในตอนนี้ฉันได้เป็นผู้เล่นของทีมประจำโรงเรียนมัธยมปลายแล้ว และหลังจากที่ผู้เล่นตำแหน่งฟอร์เวิร์ดของเราบาดเจ็บจากการแข่งขันแมตช์แรก ฉันก็กลายมาเป็นผู้เล่นตัวจริง แถมยังเป็นคนที่ทำแต้มได้มากที่สุดของทีมในช่วงครึ่งฤดูกาลด้วย และถึงแม้ว่าโค้ชกับเพื่อนร่วมทีมจะมั่นใจในฝีมือการเล่นของฉัน แต่ฉันกลับไม่มั่นใจเลย ฉันกลัวว่าตัวเองจะไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ และไม่ว่าทีมเราจะนำคู่แข่งอยู่มากแค่ไหน ฉันกลับยิ่งรู้สึกกดดันในทุกๆ ครั้งที่ชู้ตลูกลงห่วง เวลาที่ทีมแพ้ฉันก็จะโทษตัวเอง จนบางครั้งก็จมดิ่งกับความรู้สึกผิดอยู่หลายวัน ฉันอยากจะมีความสุขกับผลงานที่ดีแบบต่อเนื่อง แต่ในหัวของฉันกลับเอาแต่คิดว่าถ้าฉันทำพลาดล่ะก็ คงหนีไม่พ้นได้กลับไปเป็นตัวสำรองที่นั่งรอลงสนามจนก้นแฉะแน่นอน ถ้าจะสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่งจริงไม่ใช่เพราะโชคช่วย ฉันควรทำอย่างไรดีคะ

ผู้แปะป้ายตัวเองว่าเก่งแต่ไม่ขนาดนั้น
นักบาสเก็ตบอลอายุ 16 ปี

ตอบ:

คุณผู้แปะป้ายฯ ตอนนี้คุณคงจะไม่พอใจกับความรู้สึกของตัวเองอยู่สินะคะ แต่ในฐานะโค้ชผู้มีประสบการณ์เรื่องการควบคุมอารมณ์ของผู้เล่นและของตัวเองมามากกว่า 20 ปี ฉันขอบอกว่า ความรู้สึกของคุณในตอนนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แถมยังมีค่าด้วยนะ เพราะความรู้สึกเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ว่าคุณมุ่งมั่นและทุ่มเทอยู่เสมอ 


คุณเป็นนักกีฬา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะแพ้และรู้สึกกลัว โกรธ หรือโศกเศร้า แต่ยังไงเสียคุณก็จะชนะ และจะได้สัมผัสกับความสุข ชัยชนะ และความรื่นเริงเบิกบานใจ ซึ่งถ้าคุณไม่เคยผ่าน “ความทุกข์” มาก่อน คุณจะไม่มีวันรู้เลยว่า “ความสุข” มันดีขนาดไหน

ฉันเคยกดดันตัวเองเหมือนกันนะ สมัยเรียนมัธยมปลาย ฉันได้เข้าไปแข่งในทัวร์นาเมนต์เทนนิสระดับรัฐ ฉันจำได้ว่าตอนนั้นเสิร์ฟเสียไป 2 รอบในแมตช์เดียว ฉันเลยแหงนหน้าตะโกนด้วยความโกรธแล้วเขวี้ยงแร็กเกตลงพื้น

ฉันรู้ว่านั่นไม่ใช่วิธีระบายความโกรธที่ดีนัก แต่ในตอนนั้นฉันยั้งตัวเองไม่ได้จริงๆ เพราะแต้มนั้นคือแต้มชี้เป็นชี้ตาย พอลองมองย้อนกลับไปฉันก็รู้สึกขอบคุณพ่อกับแม่มากๆ พวกเขานั่งดูอยู่บนอัฒจันทร์แต่ก็ไม่ว่าฉันเลยสักแอะ พวกเขารู้ดีว่าอารมณ์ของฉันมาเต็มเหมือน John McEnroe เพราะฉันทุ่มเทมากจริงๆ

เพราะฉะนั้นแล้ว ปล่อยใจให้รู้สึกแบบนั้นไปเลยค่ะ

ถึงอย่างนั้น เมื่ออารมณ์ความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ไปจนเกินขีดสุด ในหัวของคุณก็คงไม่มีพื้นที่เปิดรับคำชื่นชม คราวนี้เราจึงจะมาลองดูวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยปรับสมดุลของความรู้สึกเหล่านั้นกันค่ะ

เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะกำลังทำสิ่งหนึ่ง ซึ่งฉันเรียกมันว่า “การเลือกฟัง” ที่จริงแล้วพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่การฟังเสียงใดๆ เลยด้วยซ้ำ เช่น เมื่อมีคนพูดว่า “ฉันชอบที่ฟอร์มการเล่นโดยรวมของเธอโดดเด่นสุดๆ ในสนามนะ แต่เราต้องฝึกการชู้ต 3 แต้มของเธอให้ดีขึ้นกว่านี้” สิ่งที่คุณได้ยินก็จะมีแค่ “ฉันต้องชู้ต 3 แต้มให้ดีกว่านี้ ฉันชู้ตห่วยสินะ ฉันก็เลยเป็นผู้เล่นที่ห่วยแตก และเป็นคนที่ห่วยแตก”

ความคิดแบบนี้พาให้เราเตลิดไปได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่กับนักกีฬาระดับท็อปก็มีความคิดแบบนี้ได้บ่อยๆ ฉันมีผู้เล่นฝีมือดีคนหนึ่งที่เคยรู้สึกแย่กับตัวเองเหมือนกันเวลาที่เธอชู้ตพลาด วันหนึ่งเธอหัวเสียกับฝีมือการชู้ตที่ย่ำแย่ของตัวเอง ฉันเลยพาเธอออกมาคุยข้างสนาม

วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โดยโค้ช Courtney Banghart

“เธอคิดว่าฝีมือตัวเองเป็นยังไงตอนชู้ตจากในสนาม” ฉันถาม

“ไม่รู้เลยค่ะ” เธอตอบ

“ถ้างั้น” ฉันบอก “เธอก็ไม่จำเป็นต้องหัวเสียที่ชู้ตพลาดเลย และถ้าเธอจะทุ่มเทเพื่อทำสถิติล่ะก็ เธอต้องรู้สถิติตัวเองนะ”

ความจริงก็คือ ผู้เล่นคนนี้มีเปอร์เซ็นต์การทำแต้มที่สูงที่สุดในทีม แต่เธอกลับไม่ได้สนใจแต้มที่ชู้ตลงมากเท่าที่ควร นี่แหละคือรูปแบบหนึ่งของการเลือกฟัง

“โค้ชไม่ได้คาดหวังให้คุณชนะทุกแมตช์ ไม่ได้คาดหวังให้คุณโชว์ฝีมือที่ดีที่สุด เราคาดหวังให้คุณเล่นให้เต็มที่ที่สุดต่างหาก”

สถิติโกหกไม่ได้ ดังนั้นถ้าลองเปิดใจกับตัวเอง คุณก็จะเริ่มเข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้เล่นที่มีฝีมือระดับไหน ซึ่งโค้ชของคุณนี่แหละคือคนที่รู้ระดับฝีมือของคุณโดยใช้สถิติตัดสิน นั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องรู้ตามหน้าที่ และเพราะรู้ดีว่าคุณมีความสามารถมากแค่ไหน พวกเขาก็อาจจะบอกให้คุณพัฒนาฝีมือต่อไปให้ได้ตามมาตรฐานที่สูงขึ้น

คุณคงจะคิดว่า “นั่นแหละที่ฉันอยากรู้ ฉันต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้ตามที่พวกเขาคาดหวัง” คืออย่างนี้ค่ะ ฉันไม่แน่ใจว่าคุณรับรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังหรือเปล่า แต่โค้ชไม่ได้คาดหวังให้คุณชนะทุกแมตช์ ไม่ได้คาดหวังให้คุณโชว์ฝีมือที่ดีที่สุด เราคาดหวังให้คุณเล่นให้เต็มที่ที่สุดต่างหาก

โค้ชที่มีประสบการณ์ต่างก็รู้ดีว่าความพ่ายแพ้คือสิ่งหนึ่งที่ต้องเจอในงานของตัวเอง และเหตุผลที่ทำให้คุณกลัวความพ่ายแพ้มากก็น่าจะเป็นเพราะว่าคุณยังมี “ประสบการณ์การทำงาน” ไม่มากพอ

ครั้งหนึ่งฉันเคยโค้ชให้กับผู้เล่นที่เข้าไปถึงรอบสุดท้ายในการชิงทุน Rhodes Scholarship เธอคนนี้ออกแนวขยันและไปได้ไกลกว่าคนอื่น และความกลัวที่ว่าตัวเองจะทำผิดพลาดก็ถาโถมใส่เธอ ด้วยความที่เธอประสบความสำเร็จในแทบทุกอย่างที่ทำ เธอจึงไม่เคยได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้เลยสักครั้ง เธอเหมือนกับนักดำน้ำที่เอาแต่มองลงไปในผืนน้ำอันมืดมิด แต่ไม่รู้ว่าผืนน้ำนั้นลึกแค่ไหน หนาวเย็นแค่ไหน และมีปลาปิรันยาอยู่ในนั้นหรือเปล่า

แต่ในกรณีของคุณจะต่างออกไปเล็กน้อย เพราะความสำเร็จยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ คุณยังไม่ชินกับการได้อยู่ในจุดที่สูงขึ้นแบบนี้ และคุณก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะตกลงมาจากจุดนี้ได้มากแค่ไหน ทั้ง 2 กรณีนี้มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นฉันจะบอกคุณแบบเดียวกับที่บอกนักเรียนทุน Rhodes Scholarship คนนั้นว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรเลย ลองดูตัวอย่างจากคนที่ผิดพลาดมานับครั้งไม่ถ้วนอย่างฉันดูก็ได้ นี่ไง ฉันยังลุกขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง แถมความผิดพลาดทำให้ฉันแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำไป

และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ฉันคิดว่านักกีฬาแต่ละคนกล้าหาญมากๆ เพราะการทำผิดพลาดต่อหน้าผู้ชมจำนวนมากคือสิ่งหนึ่งที่พวกคุณต้องเจออยู่ตลอด คุณต้องทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดไปกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจจะออกมาไม่ดี คุณต้องแสดงฝีมือของตัวเองทุกวัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าในหลายๆ ครั้ง วันเหล่านั้นจะผ่านไปอย่างยากลำบาก นี่แหละค่ะคือความกล้าหาญ



เพื่อนๆ ในทีมและเหล่าโค้ชของคุณก็ต้องเผชิญกับหนทางแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าพวกเขาก็มีความกลัวในจิตใจตลอดเวลาเช่นเดียวกันกับคุณ เพราะฉะนั้นแล้ว คุณไม่ได้เผชิญปัญหานี้อยู่คนเดียว และไม่มีวันเป็นแบบนั้นแน่นอน ต่อไปนี้ถ้าคุณจมกับความรู้สึกแย่ๆ ก็ขอให้นึกถึงสิ่งเหล่านี้เอาไว้นะคะ แล้วคุณจะพบว่าความรู้สึกกังวลใจจะค่อยๆ หายไปเอง

โค้ช Banghart

Courtney Banghart คือหัวหน้าโค้ชบาสเก็ตบอลหญิงแห่งมหาวิทยาลัย University of North Carolina ก่อนหน้านี้ที่เธอได้เป็นหัวหน้าโค้ชให้มหาวิทยาลัย Princeton นั้น Banghart ได้รับรางวัลโค้ชแห่งปี 2015 ของ Naismith National Coach of the Year และในปี 2017 ยังได้เข้ารับตำแหน่งโค้ชผู้ช่วยบาสเก็ตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ อายุไม่เกิน 23 ปีหรือ 2017 USA Basketball Women's U23 National Team นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้เล่นชั้นแนวหน้าจากมหาวิทยาลัย Dartmouth ผู้สร้างสถิติชู้ต 3 แต้มได้มากที่สุดใน Ivy League โดยที่ยังไม่มีใครล้มเธอได้ ปัจจุบันเธอมีตำแหน่งในบอร์ดผู้บริหารของ Women’s Basketball Coaches Association และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ Women’s Basketball Oversight Committee แห่ง NCAA

ส่งอีเมลคำถามเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกีฬาและสุขภาพได้ที่ askthecoach@nike.com

ภาพถ่ายโดย Jayson Palacio

วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โดยโค้ช Courtney Banghart

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 17 สิงหาคม 2564

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีเอาชนะความกังวลเรื่องประสิทธิภาพ โดยโค้ช Patrick Sang

การโค้ช

ถามโค้ช: “จะสงบจิตใจยามแพนิคก่อนออกจากเส้นสตาร์ทได้อย่างไร”

วิธีจัดกิจวัตรการออกกำลังกายของคุณใหม่อีกครั้ง

การโค้ช

จัดใหม่ให้ถูกทาง

ประเภทของการพูดกับตนเองที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ

การโค้ช

วิธีงัดแรงฮึดเพื่อขึ้นไปให้ถึงศักยภาพสูงสุด

การเลือกความเชี่ยวชาญในด้านกีฬา โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “เราต้องเลือกเล่นกีฬาแค่ชนิดเดียวหรือเปล่า”

วิธีรับมือกับการถูกกีดกัน โดยโค้ช Courtney Banghart

การโค้ช

ถามโค้ช: “ผมจะรับมืออย่างไรหากผมไม่ได้รับการยอมรับในทีม”