ทลายทุกกำแพงในจิตใจ

การโค้ช

จังหวะสำคัญทีไรเสียความมั่นใจทุกทีใช่ไหม มารู้วิธีฟันฝ่าทุกกำแพงในจิตใจและก้าวข้ามออกมาเป็นตัวเองที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

อัพเดทล่าสุด: 9 กันยายน 2565
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
  • แม้แต่นักกีฬาอาชีพก็ยังต้องเผชิญกับช่วงเวลาหมดไฟหรือเสียความมั่นใจจากฮอร์โมนความเครียด
  • การทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังกำแพงในจิตใจจะช่วยให้คุณฟันฝ่าไปได้ แทนที่จะปล่อยให้กำแพงนั้นส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าของคุณ
  • เทคนิคอย่างการหายใจลึกๆ และการฝึกสติสามารถช่วยการผ่อนคลายความตื่นกลัว เพื่อให้คุณมุมานะผ่านช่วงเวลาอ่อนแอเหล่านี้ไปได้

อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม…

วิธีทลายกำแพงในจิตใจ

ความหวาดกลัวที่ถาโถมจนต้องหยุดชะงักเมื่อกำลังจะลงเนินสกีน้ำแข็งตามเพื่อนที่มีประสบการณ์มากกว่า ความเชื่อที่ว่าตัวเองไม่มีทางนำเสนองานได้แม้จะซ้อมไปแล้วไม่รู้กี่ครั้ง การนิ่งเงียบตลอดการประชุมทางโทรศัพท์กับทีมใหม่เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองคู่ควรกับทีมนี้หรือเปล่า

ความกลัว การสูญเสียความมั่นใจ และความรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่จริง ทั้งหมดอาจส่งผลร้ายต่อความก้าวหน้าที่ได้มาอย่างยากเย็น บ่อยครั้งที่กำแพงในจิตใจเหล่านี้เกิดขึ้นจากฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ซึ่งจะพุ่งพล่านในร่างกายเมื่อเจอสถานการณ์ที่อันตรายหรือมีความกดดันสูง Regine Muradian, PsyD นักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับใบอนุญาตและเชี่ยวชาญด้านความวิตกกังวลในการแสดงความสามารถอธิบาย ฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นการตอบสนองแบบสู้หรือหนีของร่างกาย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คืออาการที่ปรากฏทางร่างกายหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก และ/หรือเหงื่อออกที่ฝ่ามือ และจะรู้สึกเหมือนแข็งทื่อไปทั้งตัว ซึ่งมักจะเรียกว่าเป็นอาการ "โช้ก" (Choke) แต่ผลงานวิจัยระบุว่าเราก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้

คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นแค่คนเดียวที่กำลังลำบากในช่วงเวลาเหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย "การหมดหวังภายใต้ความกดดันนั้นเป็นเรื่องปกติกว่าที่เราคิด แม้แต่มืออาชีพก็ยังเจออาการโช้กได้" Greg Chertok ที่ปรึกษาที่ผ่านการรับรองด้านประสิทธิภาพทางจิตกล่าว โดยเป็นผู้ที่ทำงานกับนักกีฬาในการแข่งขันที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก, Super Bowl และ Stanley Cup (คิดดูสิว่าทีมต้องแพ้เกมใหญ่ๆ ไปกี่เกมเพียงเพราะพลาดไปแค่ลูกเดียวหรือแต้มเดียว)

เทคนิคง่ายๆ ต่อไปนี้ถือว่าได้ผลดียิ่งกว่าการปลอบใจตัวเองว่าใครๆ ก็เป็นกันเสียอีก เพราะสามารถนำไปใช้เพื่อคลายปมในสมอง จนทำอะไรก็ตามที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จได้อย่างมั่นใจ เรามาดูกำแพงในจิตใจ 3 ประเภททั่วๆ ไปที่เป็นเหตุให้เกิดอาการโช้ก และวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญบอกไว้ว่าจะช่วยให้เป็นอิสระจากกำแพงเหล่านี้ได้

1. ความกลัว

สิ่งที่รู้สึก: ความรู้สึกหวาดกลัวที่หยั่งลึกเพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ อาจมีอาการสั่น เหงื่อออก รู้สึกเหมือนลำคอตีบตันหรือเป็นเหน็บ

ทำไมถึงเกิดขึ้น: ความกลัวจะโจมตีคุณเมื่อจิตใจคุณเตลิดไปจากช่วงเวลาปัจจุบัน Chertok อธิบาย "คุณอาจเริ่มคิดย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งที่คุณทำพลาด เช่น ยิงลูกสำคัญไม่เข้า หรือตอบติดขัดระหว่างการสัมภาษณ์งานใหญ่" เขาเสริม จังหวะนั้นความสามารถในการคิดบวกของคุณจะถูกครอบงำโดยทันที

Chertok ยังชี้ให้เห็นว่าการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่รู้ก็ทำให้กลัวได้เช่นกัน เป็นเรื่องง่ายที่จะกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้

วิธีรับมือ: เริ่มง่ายๆ ด้วยการหายใจเข้าลึกสักหน่อย ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทำแบบนี้อาจลดฮอร์โมนความเครียด พร้อมกระตุ้นความรู้สึกของการควบคุมอารมณ์และความเป็นสุขได้ทันที Muradian แนะนำให้หายใจเข้าช้าๆ นับ 5 กลั้นลมหายใจไว้ครู่หนึ่ง จากนั้นหายใจออกช้าๆ นับ 5 วนซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง "แต่ละครั้งที่หายใจออก ให้บอกตัวเองว่าคุณกำลังเป่าความคิดลบๆ ทั้งหมดออกไป" เธอกล่าว

ถึงแม้การลบความกลัวออกไปทั้งหมดอาจเป็นเรื่องยากเมื่อคุณกำลังปีนป่ายชะง่อนผาที่อันตรายเพื่อไปถึงยอด แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ความกลัวนั้นหลุดจากการควบคุมได้ Chertok กล่าว เขาแนะนำให้ขยายรายละเอียดที่เป็นด้านบวกและย่อส่วนที่เป็นด้านลบ เพื่อช่วยให้เห็นด้านบวกเด่นชัดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โฟกัสที่การปีนที่คุณทำสำเร็จทั้งหมดในอดีต แทนที่จะคิดถึงตอนที่คุณพลาด หรือใช้วิธีสุดท้ายคือ ลองสนุกกับความกลัวของตัวเอง เมื่อความกังวลที่ไม่มีเหตุผลเริ่มเข้ามาวนเวียน อย่างเช่น "ถ้าฉันขาหักล่ะ" ก็ลองคิดเป็นเสียงตลกไป "การฟังบทสนทนาในใจของเราที่กำลังเปล่งเสียงเป็นน้าผี หรือเป็ดดัฟฟี่ ก็จะพาความคิดของคุณไปในมุมที่เบาสมองมากขึ้น" Chertok อธิบาย

วิธีทลายกำแพงในจิตใจ

2. การสูญเสียความมั่นใจกะทันหัน

สิ่งที่รู้สึก: ไม่มีทางที่ตัวเองจะทำผลงานออกมาได้ แม้ว่าจะฝึกซ้อมมาเป็นล้านครั้งแล้ว

ทำไมถึงเกิดขึ้น: นักกีฬาที่เก่งที่สุดและคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดมักจะจินตนาการภาพผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมในโอกาสสำคัญ Muradian กล่าว แต่ความแน่วแน่ระดับนั้นอาจกลายเป็นการคิดถึงสถานการณ์นั้นมากไปและพยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ง่ายๆ เธอเสริม

และเมื่อคุณฝึกซ้อมบางอย่างซ้ำไปมาจนถึงจุดที่ทักษะกลายเป็นเรื่องที่ทำได้โดยอัตโนมัติ การมุ่งมั่นมากเกินไปอาจกลายเป็นผลร้ายต่อความก้าวหน้ามากกว่าผลดี "เมื่อคุณหมกมุ่นกับการพยายามควบคุมการสะบัดข้อมือเมื่อชู้ตลูกโทษ หรือการพิตช์ลูกให้ถูกท่า กลไกอัตโนมัติของสมองนั้นจะถูกรบกวน และการกระทำนั้นอาจรู้สึกผิดแปลกจนทำให้เล่นไม่ออก" Chertok กล่าว

วิธีรับมือ: ขั้นแรก เตือนตัวเองว่าคุณมีทักษะที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ Muradian กล่าว ลองคิดย้อนกลับไปถึงเวลาที่คุณเอาชนะความท้าทายได้เพื่อเรียกความมั่นใจออกมาให้มากพอ เธอกล่าว จากนั้นมุ่งความสนใจไปภายนอกแทนที่จะเป็นการกระทำที่คุณพยายามเป็นอย่างมากที่จะควบคุม "โฟกัสสิ่งภายนอกอย่างเป้าหมาย คู่ต่อสู้ หรือลูกบอลอย่างตั้งใจ แทนที่จะเป็นกระบวนการคิด ซึ่งทำให้คุณทำอะไรไม่ถูก" Chertok กล่าว ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ เลยโดยการโฟกัสไปที่เพื่อนร่วมทีมแทนที่จะเป็นลักษณะการส่งลูกของคุณ หรือจินตนาการว่าคุณกำลังคุยกับคนคนหนึ่งในบรรดาผู้ชมแทนที่จะพยายามท่องจำตามบททุกคำพูด

3. โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

สิ่งที่รู้สึก: คุณเดินทางมาถึงรอบไฟนอลแล้ว รอบสุดท้ายของการสัมภาษณ์ หรืองานประกาศรางวัล เพราะว่าคุณโชคดี คุณไม่ได้มีทักษะ ความมุ่งมั่น หรือพรสวรรค์จริงๆ หรอก

ทำไมถึงเกิดขึ้น: บางครั้งโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งก็มีสาเหตุมาจากการให้คุณค่าตัวเองน้อย "โดยมากจะเกิดขึ้นเมื่อคนบางคนไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง หรือรู้สึกเหมือนสิ่งที่ตัวเองทำไม่มีวันดีพอ" Muradian กล่าว และยังเกิดขึ้นได้ด้วยเวลาที่คุณกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองมากเกินไป "คุณอาจสนใจเรื่องไม่ให้ตัวเองดูแย่มากกว่าเรื่องชัยชนะด้วยซ้ำ" Chertok กล่าว เมื่อชนะจริงๆ คุณเลยรู้สึกไม่สบายใจ

วิธีรับมือ: เมื่อคุณสังเกตว่าสมองนั้นกำลังถูกคุกคามด้วยความกลัวว่าตัวเองไม่เก่งจริง สู้มันกลับไป "สิ่งสำคัญคือการปิดเสียงความคิดด้านลบ เพราะความคิดพวกนั้นเป็นของปลอม" Muradian กล่าว วิธีหนึ่งที่ใช้ปิดกั้นความคิดด้านลบได้ค่อนข้างดีคือการนึกถึงคำชมที่ทำให้ตัวเองภูมิใจในทักษะหรือผลงานที่ผ่านมามากที่สุด เธอกล่าว ให้เชื่อมั่นว่าคนที่คุณเชื่อใจนั้นพูดได้ถูกต้องเกี่ยวกับทักษะของคุณ

และเหนือสิ่งอื่นใดคือ อย่าลืมว่าอาการโช้กคือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ และบรรดาคนที่ก้าวหน้าได้มากที่สุดก็แค่เรียนรู้วิธีที่จะฟันฝ่ามันไป "ความจริงก็คือ ไม่มีใครมีความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับอะไรอย่างถ่องแท้กันทั้งนั้นนั่นแหละ" Chertok กล่าว และเมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้ "เราจะก้าวไปข้างหน้าและตระหนักได้ว่าประสบการณ์ที่เจอคือเรื่องปกติ ซึ่งทำให้เราหันมาสนใจหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น"

ความยากระดับ Double Black Diamond งั้นเหรอ เข้ามาเลย

เรียบเรียงโดย Marygrace Taylor
ภาพประกอบโดย Kezia Gabriella

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นักกีฬาคนพิการ Amy Bream คนนี้ไม่เคยเจอกำแพงใดในจิตใจที่เธอฟันฝ่าไปไม่ได้ มาดูเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจของเธอ จากนั้นก็เคลื่อนไหวไปกับเธอในแอพ Nike Training Club

เผยแพร่ครั้งแรก: 19 กันยายน 2565

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

วิธีค้นหาแรงจูงใจในการออกกำลังกายหลังคลอด

นี่ล่ะ Nike (M)

ข้ามผ่านกำแพงในจิตใจที่พบได้บ่อยในการเทรนนิ่งหลังคลอด

ความเครียดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไรและควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่ล่ะ Nike (M)

เจาะลึกเรื่องความเครียดและภาวะเจริญพันธุ์

คุณสามารถออกกำลังกายแบบหนักหน่วงในระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นี่ล่ะ Nike (M)

ระหว่างตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหนักแค่ไหนกัน

วิธีออกกำลังกายหลังจากการแท้งบุตร โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

คู่มือฉบับนุ่มนวลเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายหลังแท้ง

เหตุผลที่คุณควรลองเล่นโยคะระหว่างตั้งครรภ์ โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ

นี่ล่ะ Nike (M)

โยคะระหว่างตั้งครรภ์ใช่การออกกำลังกายที่คุณเฝ้ารอหรือเปล่า