ถามโค้ช: “ผมไม่ได้รับเลือกเข้าทีมมัธยมปลาย ผมควรทำยังไงต่อไปดี”

การโค้ช

ความฝันของนักบาสวัยเยาว์คนหนึ่งสลายไปกับตาอย่างง่ายดาย Courtney Banghart จาก UNC เข้าใจถึงความเจ็บปวดของเขา และได้ฝากคำแนะนำง่ายๆ เอาไว้

อัพเดทล่าสุด: 30 สิงหาคม 2564
ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart

ถามโค้ช คือคอลัมน์ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาความมุ่งมั่นในกีฬาของคุณ

ถาม:

สวัสดีครับโค้ช

ผมเคยเป็นผู้เล่นฝีมือดีที่สุดในคอร์ท ไม่ว่าคอร์ทไหนก็ตาม ทุกครั้งที่นัดเพื่อนไปเล่นกันในสวนสาธารณะหรือตอนฝึกซ้อมกับทีมของโรงเรียนเก่า ผมจะเป็นตัวเต็งตลอด จนกระทั่งครอบครัวของเราย้ายที่อยู่ใหม่ ในรอบคัดตัวนักกีฬาบาสเก็ตบอลของโรงเรียนมัธยมปลายที่ใหม่ คนอื่นๆ เขาเล่นกันได้คล่องแคล่วว่องไวกว่าผม แข็งแกร่งกว่าผม ทุกอย่างดีกว่าหมดเลย ผมรู้สึกว่าตัวเองสู้เขาไม่ได้สักนิด แน่ล่ะ สุดท้ายผมก็ไม่ถูกเลือก แต่ถูกเสนอให้เป็นผู้เล่นในทีมสำรองแทน ผมกลัวว่านี่อาจจะเป็นจุดสูงสุดที่ตัวเองทำได้แล้ว และถ้าไม่ได้เล่นกับคนเก่งๆ แบบนี้ ผมจะยังมีโอกาสเก่งบ้างได้ไหมครับ


Simply “OK” Suddenly (จู่ๆ ก็ยอมจำนนต่อสถานการณ์)
นักบาสเก็ตบอลอายุ 16 ปี

ตอบ:

ฉันก็เคยเป็นแบบนั้นเหมือนกันนะคุณ SOS คือสิ่งที่ตัวเองเคยพบเจอก็เหมือนกับกับเรื่องของคุณเป๊ะเลยค่ะ ฉันเคยไม่ได้รับเลือกเข้าทีมที่ฉันรู้ดีว่าตัวเองเก่งพอจะเข้าได้ และแน่นอน หลายคนก็เจอเรื่องแบบนี้มาเหมือนกัน แล้วทำไมเรื่องแบบนี้มันถึงน่าเจ็บปวดยิ่งกว่าสำหรับคนอย่างคุณหรือฉันกันล่ะ

ในมุมของฉันนะคะ บอกได้เลยว่ากีฬาคือทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เล็กจนโต คำแรกที่ฉันพูดได้ไม่ใช่คำว่า “แม่” หรือ “พ่อ” แต่เป็นคำว่า “บอล” ไม่ได้โกหกนะ คือฉันมาจากเมืองเล็กๆ ในนิวแฮมป์เชียร์ที่ทุกคนในเมืองเล่นกีฬากันทุกชนิด เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็จะไม่เก่งพอให้ถูกเลือกเข้าทีม และตอนเด็กๆ ฉันก็จะเป็นเด็กประเภทที่ว่า พอซ้อมฟุตบอลเสร็จ กลับมาถึงบ้านก็เริ่มชู้ตบาสต่อโดยยังใส่สนับแข้งคาไว้อยู่ บางทีไปเล่นสเก็ตบอร์ด ฮอกกี้น้ำแข็ง ไม่ก็ฟิกเกอร์สเก็ตร่วมด้วย

ฟุตบอลคือรักแรกของฉัน และก็หักอกฉันเป็นคนแรกเช่นกัน

ตอนอายุ 9 ขวบ ฉันเคยไปสมัครคัดเลือกเข้าทีมฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ในตอนนั้นทีมโรงเรียนของฉันถือว่าเก่งที่สุดในรัฐ ก็เลยชินกับการได้ชัยชนะเป็นประจำ และมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับเลือกเข้าทีมอายุไม่เกิน 12 ปีแน่ๆ แต่สุดท้ายก็พลาด วินาทีแรกแทบจะไม่อยากเชื่อเลยค่ะ เรื่องน่าผิดหวังแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตฉันมาก่อน ความสามารถที่ฉันมีอยู่มันไม่มากพอ ฉันไม่ได้เป็นที่ต้องการ โค้ชบอกกับพ่อแม่ของฉันว่า ตัวฉันมีแววหลายอย่างเลยนะแค่ส่วนสูงน้อยไปหน่อย พ่อกับแม่ก็พยายามปลอบใจ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นเลย ในตอนนั้นฉันรู้สึกอับอายมาก

ถามว่าฉันทำใจกับเรื่องนี้ยังไง จริงๆ ก็ยังมูฟออนไม่ได้หรอกไม่งั้นคงไม่ระบายให้เธอฟังแบบนี้... แต่ฉันก็ยังคงซ้อมต่อไป เพราะสุดท้ายฉันก็ไม่มีทางอื่นให้เลือก อาจจะฟังดูดราม่าไปหน่อยแต่ขอสารภาพว่า กีฬาคอยเชื่อมตัวฉันเข้าหาโลกมาโดยตลอด ชีวิตฉันรู้จักแค่การเล่นกีฬา เพราะแบบนั้นเลยไม่มีทางที่ฉันจะเลิกเล่น และถ้าจะให้ตัดสินว่าคุณเป็นยังไงจากอีเมลคำถามหนึ่งย่อหน้าที่ส่งมาให้ ฉันก็คิดว่าคุณคงเจอเรื่องเดียวกับฉันนี่แหละ

วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart
วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart
วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart

คุณคงเคยได้ยินว่ามีผู้เล่นระดับท็อปหลายคนใช้คำปรามาสพวกนี้เป็นแรงฮึดให้กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม ซึ่งก็โอเคนะ ฉันสนับสนุนการใช้แรงแค้นเพื่อเอาคืนอยู่แล้วเพราะเป็นวิธีคลาสสิกที่นักกีฬาใช้กัน ฉันเคยโค้ชให้เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เล่นอันดับรั้งท้ายของชั้นปีที่จะเข้าเรียน เธอจะเขียนเลขอันดับของตัวเองไว้บนกระดานไวท์บอร์ดเพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือน ทุกๆ วันเธอจะมองไปที่ตัวเลขนั้นด้วยเป้าหมายที่ต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้มีฝีมือแค่นี้ ซึ่งในที่สุดเด็กคนนั้นก็กลายเป็นผู้เล่นที่มีสถิติเวลาการเล่นเยอะที่สุดในทีมในฐานะเด็กใหม่ เพราะฉะนั้นวิธีนี้ก็เรียกได้ว่าไม่ได้ให้ผลลัพธ์แย่เท่าไหร่

อีกวิธีก็คือ ลองเปลี่ยนนิยามของคำว่า “เก่งที่สุด” ของคุณดู เพราะจริงๆ แล้วคุณลักษณะของการเป็นผู้เล่นที่ดีนั้นมีอยู่มากมาย ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าบางคนก็เก่งด้วยพรสวรรค์ทางร่างกายล้วนๆ แต่ก็ยังมีคุณลักษณะของการเป็นแรงสนับสนุนให้กับทีมของตัวเองด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนกาวที่ช่วยยึดแน่นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในทีมเอาไว้ นอกจากนี้ก็มีความทรหด ซึ่งบ่งบอกถึงความตั้งใจในการฝึกฝนซ้ำๆ เพื่อพัฒนาตัวเองไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควบคุมได้เสมอด้วยตัวเอง และยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะวัดระดับความเปลี่ยนแปลงว่าคุณจะพัฒนาฝีมือไปได้มากแค่ไหนด้วย

อีกวิธีก็คือ ลองเปลี่ยนนิยามของคำว่า “เก่งที่สุด” ของคุณดู เพราะจริงๆ แล้วคุณลักษณะของการเป็นผู้เล่นที่ดีนั้นมีอยู่มากมาย

ความทรหดนี่แหละจะกระตุ้นให้คุณใช้เวลามองอย่างถี่ถ้วนว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไรและจะตั้งเป้าหมายอย่างไรให้เป็นขั้นๆ อย่างชัดเจนเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ลองถามคำถามที่ช่วยค้นหาเป้าหมายเหล่านั้นกับตัวเอง เขียนเป้าหมายเหล่านั้นออกมา แล้วแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ ดูนะคะ แค่อย่าลืมว่าเป้าหมายนั้นต้องเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ถ้าเป้าหมายคือการเข้าทีมหลักของโรงเรียน คุณก็คงควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเป้าหมายคือการฝึกชู้ตระยะไกลให้แม่นขึ้นหรือฝึกช่วยป้องกันแนวรับอีกชั้น คุณทำได้เองแน่นอน

ทีนี้เราจะปล่อยวางกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อย่างไรดี สำหรับคุณแล้ว เราจะใช้แผนที่มีชื่อว่า “เล่นไป ไม่ต้องเปรียบเทียบ” ซึ่งทำไม่ง่ายเลยในยุคที่เราหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับโซเชียลมีเดียและต้องอยู่ในโลกที่การเปรียบเทียบเกิดขึ้นตลอดเวลาจนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าคงออกแบบมาเพื่อทำร้ายเราแน่ๆ เมื่อไหร่ที่คุณหมดพลังไปกับการเปรียบเทียบตัวเองกับคู่แข่งที่เป็นทีมโรงเรียน เมื่อนั้นคุณก็จะสูญเสียพลังในการแข่งขันกับคู่แข่งเหล่านั้นไป และถึงแม้ว่าคุณจะควบคุมฟอร์มการเล่นของพวกเขาไม่ได้ แต่ฟอร์มการเล่นของคุณเองนี่แหละที่คุณควบคุมได้อย่างเต็มที่

ที่จริงแล้ว ทุกอย่างที่ฉันอยากให้คุณทำคือสิ่งที่คุณควบคุมได้ทั้งนั้น ทั้งเปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นแรงกระตุ้น เปลี่ยนนิยามของคำว่า “เก่งที่สุด” เป็น “ขยันและทุ่มเทที่สุด” สร้างเป้าหมายที่ทำได้จริงให้เป็นลำดับขั้น เลิกกังวลกับการจะต้องเก่งให้ได้เหมือนคนอื่น และหันมาโฟกัสกับการแสดงฝีมือที่เฉียบขาดในทีมสำรองแทน ความรู้สึกของการรับรู้ว่าตัวเองมีดีครบทุกอย่างที่จะประสบความสำเร็จได้เป็นอะไรที่มีพลังมากๆ ทีนี้ก็เหลือแค่เอื้อมมือแล้วคว้ามันมาให้ได้แล้วล่ะค่ะ


โค้ช Banghart

Courtney Banghart คือหัวหน้าโค้ชบาสเก็ตบอลหญิงแห่งมหาวิทยาลัย University of North Carolina at Chapel Hill ก่อนหน้านี้ที่เธอได้เป็นหัวหน้าโค้ชให้มหาวิทยาลัย Princeton นั้น Banghart ได้รับรางวัลโค้ชแห่งปี 2015 ของ Naismith National Coach of the Year และในปี 2017 ยังได้เข้ารับตำแหน่งโค้ชผู้ช่วยบาสเก็ตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ อายุไม่เกิน 23 ปีหรือ 2017 USA Basketball Women's U23 National Team นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้เล่นชั้นแนวหน้าจากมหาวิทยาลัย Dartmouth ผู้สร้างสถิติชู้ต 3 แต้มได้มากที่สุดใน Ivy League โดยที่ยังไม่มีใครล้มเธอได้ ปัจจุบันเธอมีตำแหน่งในบอร์ดผู้บริหารของ Women’s Basketball Coaches Association และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ Women’s Basketball Oversight Committee แห่ง NCAA

ส่งอีเมลคำถามเกี่ยวกับวิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกีฬาและสุขภาพได้ที่ askthecoach@nike.com

ภาพถ่ายโดย Jayson Palacio

วิธีรับมือกับการถูกคัดออกจากทีม โดยโค้ช Courtney Banghart

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

รับประโยชน์ที่มากขึ้น

เข้าแอพ Nike Training Club แล้วดูคำแนะนำที่รับรองโดยผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้เลยทั้งในด้านทัศนคติ รวมถึงการเคลื่อนไหว โภชนาการ การฟื้นฟู และการนอนหลับ

เผยแพร่ครั้งแรก: 31 สิงหาคม 2564

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

การเลือกความเชี่ยวชาญในด้านกีฬา โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “เราต้องเลือกเล่นกีฬาแค่ชนิดเดียวหรือเปล่า”

วิธีฟื้นตัวจากการบาดเจ็บ โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “ทำไมวิ่งแล้วชอบเจ็บตัวอยู่เรื่อย”

วิธีรับมือกับคนที่ชอบกลั่นแกล้ง โดยโค้ช Gjert Ingebrigtsen

การโค้ช

ถามโค้ช: “ผมจะเล่นกับเพื่อนร่วมทีมที่ชอบหาเรื่องได้อย่างไร”

วิธีรับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง โดยโค้ช Courtney Banghart

การโค้ช

ถามโค้ช: “จะทำอย่างไรให้เชื่อได้ว่าตัวเองก็มีดี”

นักกีฬาสามารถเล่นแม้จะเศร้าโศกหลังจากสูญเสียคนที่รักได้อย่างไร

การโค้ช

ถามโค้ช: “ฉันจะเล่นได้อย่างไรในเมื่อกำลังเศร้าโศก”